ใครที่นอนกรนหรือมีคนที่นอนเตียงเดียวกันกรนเป็นประจำ อยากให้อ่านข้อมูลที่เรากำลังจะนำเสนอนี้มาก ๆ เลยค่ะ เพราะนอกจากคนนอนกรนจะตื่นมาเจ็บคอ คอแห้ง รู้สึกเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม หรือทำให้คนร่วมห้องนอนไม่หลับแล้ว ลิสต์ต่อไปนี้คือโรคที่คนนอนกรนจะเสี่ยงมากกว่าคนที่นอนเป็นปกติดี ฉะนั้นมีเพื่อนบอกเพื่อนมีญาติบอกญาติให้แก้นอนกรนกันด่วน !

 

นอนกรน เสี่ยงโรค


1. โรคหัวใจ

          นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเซมเมลไวส์ ที่บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี พบว่า ผู้ที่นอนกรนเสียงดังและมีลักษณะหยุดหายใจเป็นพัก ๆ จะมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นประมาณ 34% รวมทั้งยังมีความเสี่ยงโรคหลอดเส้นเลือดในสมองแตก 67% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่นอนกรน เนื่องจากการนอนกรนจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย ส่งผลให้มีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้าง จนร่างกายตอบสนองด้วยการหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาสะสมและส่งผลเสียไปยังระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

          แต่ทั้งนี้ก็ยังนับปัจจัยเสี่ยงด้านอื่น ๆ เช่น อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย พฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และการออกกำลังกายร่วมด้วยนะคะ

2. อัมพฤกษ์ อัมพาต

          ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งเนื่องจากเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจในคนนอนกรน อาจทำให้เกิดคราบพลัคในรูปของไขมัน ส่งผลเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด อย่างโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น 


นอนกรน เสี่ยงโรค


3. ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmias)

          งานวิจัยจาก Sleep Center แห่ง Thomas Jefferson University และ Hospitals Philadelphia พบว่า ภาวะหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ขณะนอนหลับของผู้ที่มีอาการนอนกรน เพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจเสียจังหวะมากกว่าคนไม่นอนกรน โดยเฉพาะหากนอนกรนต่อเนื่องเป็นเวลานานมาแล้ว และไม่ยอมรักษาอาการกรนให้หายขาดสักที แบบนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงไม่รู้ตัว
 

นอนกรน เสี่ยงโรค


4. กรดไหลย้อน

          ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับในคนนอนกรนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากความดันที่ไม่สม่ำเสมออาจทำให้หลอดอาหารทำงานผิดปกติ เป็นเหตุให้คนนอนกรนต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น
 


นอนกรน เสี่ยงโรค


5. ปวดศีรษะ

          หากมักจะตื่นขึ้นมาพร้อมอาการหนัก ๆ หัว หรือปวดศีรษะเป็นประจำ อาจเป็นไปได้ว่าคุณนอนกรนมาตลอดทั้งคืน ซึ่งก็คงทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่มด้วย ดังนั้นเมื่อร่างกายนอนไม่พอ อาการปวดศีรษะก็จะมาเยือนเป็นเรื่องปกติ

6. ภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง

          เมื่อเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยกว่าปกติ ระดับออกซิเจนที่อยู่ในเลือดก็จะลดลง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังปอดไม่สะดวก หรือมีภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง (Pulmonary Hypertension) ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายทั้งในระบบปอดและหัวใจ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยง่าย คุณภาพชีวิตแย่ลง
 

นอนกรน เสี่ยงโรค

    
7. เสี่ยงโรคระบบประสาทและสมอง

          ในผู้ที่นอนกรนเรื้อรัง อาจส่งผลต่อระบบประสาทและสมองได้ เนื่องจากสมองต้องการออกซิเจนไปช่วยในกระบวนการทำงาน และแม้ขณะนอนหลับ ออกซิเจนก็ยังคงเป็นวัตถุดิบสำคัญของสมองอยู่ดี ซึ่งหากร่างกายขาดออกซิเจน ระบบประสาทก็อาจทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ปอดและหัวใจทำงานหนักขึ้นอีกด้วย

8. โรคสมองเสื่อม

          เหตุผลเชื่อมโยงกันกับความเสี่ยงโรคประสาทและสมองเลยค่ะ โดยหากเราปล่อยให้สมองขาดออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง แม้จะวันละนิดละหน่อยก็ถือว่าเป็นการสะสม ซึ่งอาจส่งผลให้คนนอนกรนเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนไม่นอนกรน

9. มะเร็ง

          ผลการวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาและสเปน อีกทั้ง ดร.Antoni Vilaseca แพทย์คลินิกเวชศาสตร์จากเมืองบาร์เซโลน่าเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ภาวะหลอดเลือดติดขัดจากการที่ร่างกายขาดออกซิเจน อาจกระตุ้นให้เนื้องอกเจริญเติบโตได้เร็ว โดยเฉพาะคนที่มีเซลล์เนื้อร้าย เลือดที่คั่งอยู่ตามจุดนั้น ๆ อาจหล่อเลี้ยงเซลล์ร้ายให้ขยายใหญ่ได้เร็วขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากขึ้นไปด้วย

          ทว่าจากการศึกษาก็ยังพบข้อมูลที่น่าอุ่นใจว่า คนนอนกรนที่มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือได้รับการปั๊มออกซิเจนเข้าไปในหลอดเลือด มีสิทธิ์จะลดโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็ง รวมทั้งอาจมีโอกาสต่อสู้กับเซลล์ร้ายได้นะคะ

          อย่างไรก็ตาม อาการนอนกรนไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มเป็นหรือนอนกรนเรื้อรังมานาน ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคและอันตรายกับร่างกายเราได้ ฉะนั้นคงดีกว่าหากเราจะหาวิธีรักษาอาการนอนกรนให้หายขาด โดยวิธีแก้นอนกรนก็มีทางเลือกอยู่ไม่น้อย ลองดูได้จากข้อมูลด้านล่างนี้เลยค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย