อันตรายจากความเหงา เขาบอกว่าคนเราอยู่ร่วมกับความเหงาแล้วเสี่ยงทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ร้ายแรงถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้เลย !?

          ความเหงาเหมือนลอยวนอยู่รอบ ๆ ชั้นบรรยากาศ หลายคนพบว่าตัวเองรู้สึกเหงาได้ง่ายดายเหลือเกิน แต่รู้ไหมคะว่าทุกครั้งที่เราเหงาก็เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตให้ตัวเอง เพราะความเหงาอันตรายกว่าแค่ทำให้รู้สึกซึม ๆ เศร้า ๆ


1. แพร่ระบาดได้เหมือนไข้หวัด 

          งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก รายงานว่า คนที่รู้สึกเหงามีโอกาสแพร่ความรู้สึกสีเทา ๆ นี้ไปยังคนรอบข้างได้ง่ายมาก ไม่ต่างจากเชื้อไข้หวัดเลย 
แถมยังมีแนวโน้มจะแยกตัวออกจากสังคม เพิ่มความโดดเดี่ยวให้ทั้งตัวเองและคนใกล้ชิดเข้าไปอีก ซึ่งนักจิตวิทยาก็ออกโรงผสมมาว่า ความเหงามีความเกี่ยวข้องกับทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งสามารถบั่นทอนสุขภาพด้านต่าง ๆ และอาจทำให้ชีวิตคนเราสั้นลงได้ด้วยนะคะ

2. แค่เหงา ก็อันตรายเท่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน !



          งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริคแฮม บอกให้เรารู้ว่า ความเหงาสามารถบั่นทอนสุขภาพร่างกายของเราได้มากพอกับการเป็นโรคอ้วนหรือการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันเชียวนะ 
    
          นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่มีเพื่อนที่ทำงานอย่างน้อย 3 คนขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนที่ไม่มีเพื่อนที่ทำงานเลย เพราะการมีเพื่อนช่วยให้ความเครียดลดลง และช่วยลดความหดหู่ แถมยังมีข้อดีอีกมากมายหลายอย่าง แต่เพราะชีวิตที่เร่งรีบและเต็มไปด้วยงาน ทำให้เราไม่มีโอกาสจะได้เจอกับเพื่อนเก่า ๆ เลย ยิ่งเมื่ออยู่ในวัยทำงานแล้วการมองหาเพื่อนใหม่ ๆ ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากเข้าไปอีก ดังนั้นรีบจัดมีทติ้งกับเพื่อนกันเถอะ

3. เหงาวัยไหนก็เสี่ยงได้ไม่ต่างกัน


    
          นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ความเหงาร้ายกาจพอ ๆ กับโรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และพอ ๆ กับการไม่ออกกำลังกายเลยสักนิด 
    
          โดยความเหงาของวัยหนุ่มสาว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เทียบเท่ากับความเสี่ยงในวัยรุ่นที่ไม่เคยออกกำลังกายฟิตสุขภาพตัวเองประมาณนั้นเลย อีกทั้งการศึกษายังพบด้วยว่า ความเหงาในวัยรุ่นก็มีส่วนเพิ่มโอกาสเกิดโรคอ้วนได้ โดยวัดจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และรอบเอวของวัยรุ่นที่ไม่ค่อยมีเพื่อนซึ่งพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีค่าดัชนีมวลกายที่สูงกว่าเกณฑ์ปกติ เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่เพื่อนเยอะและไม่ค่อยรู้สึกเหงา
    
          ส่วนความเหงาที่เกิดจากความอ้างว้างโดดเดี่ยวในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่แล้วกำเริบหรือมีอาการแย่ลงได้ ทว่าในกลุ่มวัยกลางคนกลับพบว่าความเหงาทำอะไรเขาไม่ได้มากนัก ด้วยเป็นวัยที่กำลังวุ่นวายกับการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ครอบครัวและตัวเอง จึงอาจมีเวลารู้สึกเหงาน้อยกว่าช่วงวัยอื่น ๆ นั่นเองค่ะ
    
          นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังทิ้งท้ายว่า โดยรวมแล้วความรู้สึกเหงาที่เกิดจากความอ้างว้างและโดดเดี่ยว สามารถเพิ่มความเสี่ยงได้ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมการบริโภค การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่มีส่วนกระตุ้นการเกิดโรคด้วยล่ะ

4. ความเหงาเป็นเพื่อนซี้กับความเครียด
    


          John Cacioppo นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา เผยข้อมูลงานวิจัยว่า ความเหงาสามารถเปลี่ยนยีนและสารเคมีในสมองให้หลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาได้ง่ายดายขึ้น อีกทั้งยังลดความสามารถของสมองด้านกระบวนการรับรู้ ในส่วนภูมิคุ้มกันก็จะอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดได้อีกต่างหาก

5. เสี่ยงโรคอัลไซเมอร์
    
          ในวาระการประชุมของ Alzheimer's Association International ณ วอชิงตัน ดี.ซี. ได้เผยผลการศึกษาเรื่องความเหงาเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ขึ้นมา โดยมีใจความสำคัญประมาณว่า ความรู้สึกเหงาสามารถส่งผลกระทบไปยังสารสื่อประสาทในสมองให้เปลี่ยนไป ลดการทำงานของสมองในด้านกระบวนการรับรู้ได้ราว ๆ 20% และเร็วกว่าปกติประมาณ 12 ปีก่อนความเสื่อมของสุขภาพที่ควรจะเป็น
    
          อีกทั้งการอยู่คนเดียวเหงา ๆ ก็ยังลดโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันน้อย จนเพิ่มความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมขึ้นได้6. รู้สึกเหงา=ไวต่อเชื้อไวรัส
    
          ผลการศึกษาที่ถูกเผยในการประชุม Society for Personality and Social Psychology แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่รู้สึกเหงา อ้างว้าง และโดดเดี่ยวบ่อย ๆ มีแนวโน้มจะไวต่อเชื้อไวรัสได้เร็วกว่าคนที่ไม่เหงา เพราะความเหงาทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง ทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง ความเครียด และอาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ ได้ง่ายกว่าปกติ

7. สุขภาพจิตเสีย เสี่ยงต่อพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง
    
          ในทางจิตวิทยา ความรู้สึกเหงาชนิดเรื้อรังและเป็นความเหงาอันเกิดจากความอ้างว้างโดดเดี่ยว ไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่เท่านั้น แต่ยังอาจผลักดันให้เกิดพฤติกรรมแปลกแยก หรือการทำร้ายตัวเองได้ เช่น ความเหงาที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก อาจทำให้เด็กขาดทักษะการเข้าสังคม รู้สึกแปลกแยก และกลายเป็นคนต่อต้านสังคมไปโดยปริยาย ส่วนความเหงาในผู้ใหญ่อาจต่อยอดไปเป็นโรคซึมเศร้าหรือการติดสุราได้

          นอกจากนี้นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกยังเผยความเสี่ยงของความเหงาที่มีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายมาด้วยว่า คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวแบบเหงา ๆ มานาน อาจเพิ่มโอกาสการทำร้ายตัวเอง หรือหนักถึงขั้นมีสิทธิ์ฆ่าตัวตายได้ อีกทั้งคนที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวก็มักจะมีโอกาสนอนไม่หลับค่อนข้างสูงด้วยนะคะ ดังนั้นหากรู้สึกเหงาก็อย่ายอมจมอยู่กับตัวเองเฉย ๆ หาทางคลายเหงากันดีกว่าเนอะ ลองดูตามนี้ก็ได้ค่ะ วิธีแก้เหงาเมื่ออยู่คนเดียว เปล่าเปลี่ยวแต่เฟี้ยวและสุดสตรอง 

 

 

ที่มา : health.kapook