โรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรไทย จากการศึกษาล่าสุดของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประชากรไทยผู้ใหญ่ทั่วประเทศมีประมาณเจ็ดล้านคน โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น และอีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะปานกลางถึงรุนแรง

ในจำนวนนี้พบว่ามีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคไต จึงไม่ได้รับการรักษาและปฏิบัติตัวให้ถูกวิธี ซึ่งจุดประสงค์หลักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังคือเพื่อชะลอการเสื่อมของการทำงานของไต และป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด โดยการควบคุมความดันโลหิต และลดภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ

ในชีวิตประจำวัน ประชาชนวัยทำงานทั่วไปมักมองข้ามความสำคัญของการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเป็นโรคไตเรื้อรัง เพราะเมื่อเรารับประทานอาหารเค็มจัดจะนำไปสู่การเป็นโรคความดันโลหิตสูง และในระยะยาวก็จะกลายเป็นโรคไตเรื้อรังได้

อาหารไทยส่วนใหญ่มีการปรุงโดยการเติมเกลือหรือน้ำปลาในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม แต่ผลเสียที่ติดตามมากับอาหารเค็มก็คือ“โซเดียม”สูง ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงมีผลเสียทั้งทำให้

- ความดันโลหิตสูง
- เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาว
- มีผลเสียต่อไตโดยตรง

จากการศึกษาพบว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและเสียชีวิตสูงกว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่าโซเดียม เพื่อให้ทราบถึงบทบาทที่มีต่อร่างกายและวิธีการลดปริมาณโซเดียมในอาหารได้อย่างถูกต้อง

 

โซเดียมคืออะไร...

รูปภาพ

โซเดียมเป็นหนึ่งในเกลือแร่ที่สำคัญในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ การกระจายตัวของน้ำในส่วนต่างๆของร่างกาย ควบคุมสมดุลของกรดด่างควบคุมการเต้นของหัวใจและชีพจร มีผลต่อความดันโลหิต การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ร่างกายของเราได้รับจากอาหารซึ่งมักอยู่ในรูปของเกลือ โซเดียมคลอไรด์ มีรสชาติเค็ม มักใช้เพื่อปรุงรสหรือถนอมอาหาร เช่นน้ำปลา กะปิ นอกจากนี้โซเดียมยังแอบแฝงในอาหารรูปอื่นแต่ไม่มีรสชาติเค็ม เช่น ผงชูรส ผงฟู 

 
โซเดียมอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง

อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงส่วนใหญ่มักมีรสชาติเค็ม ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่มีรสชาติเค็ม นอกจากนี้ยังมีอาหารที่มีโซเดียมสูงแต่ไม่เค็ม ซึ่งเรียกว่ามีโซเดียมแฝง ทำให้เรารับโซเดียมโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงควรทำความรู้จักอาหารประเภทนี้ไว้ด้วยจากการสำรวจพบว่าปริมาณโซเดียมที่ได้รับส่วนใหญ่มาจากขั้นตอนการปรุงอาหารมากกว่าการเติมน้ำปลาหรือเกลือเมื่ออาหารถูกปรุงเสร็จแล้ว เราสามารถแบ่งอาหารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบได้ดังนี้ 

1. อาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร ได้แก่ อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง ผลไม้ดอง เป็นต้น
2. เครื่องปรุงรสชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เกลือ (ทั้งเกลือเม็ดและเกลือป่น) น้ำปลา มีปริมาณโซเดียมสูง คนที่ต้องจำกัดโซเดียมไม่ควรทาน ซอสปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่าง ๆ ที่มีรสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ซอส เหล่านี้แม้จะมีปริมาณโซเดียมไม่มากเท่าน้ำปลา แต่คนที่ต้องจำกัดโซเดียมก็ต้องระวังไม่กินมากเกินไปด้วย
3. ผงชูรส แม้เป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยประมาณร้อยละ 15 ของส่วนประกอบ
4. อาหารกระป๋องต่าง ๆ เช่น ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ขนมกรุบกรอบ เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูด ซึ่งมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก
5. อาหารกึ่งส้าเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่าง ๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง
6. ขนมต่าง ๆ ที่มีการเติมผงฟู (Baking Powder หรือ baking Soda) เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต) รวมถึงแป้งสำเร็จรูป ที่ใช้ทำขนมเองก็มี โซเดียมอยู่ด้วย เพราะได้ผสมผงฟูไว้แล้ว
7. น้้าและเครื่องดื่ม น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม แต่น้ำบาดาลและน้ำประปามีโซเดียมปนอยู่บ้าง ในจำนวนไม่มากนัก ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่าง ๆ มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพราะมีจุดประสงค์ให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมากไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วย ทำให้น้ำผลไม้เหล่านี้ มีโซเดียมสูง ดังนั้นหากต้องการดื่มน้ำผลไม้ควรดื่มน้ำผลไม้สดจะดีกว่า

 

ผลของการรับประทานโซเดียมสูงต่อร่างกาย

การรับประทานโซเดียมในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไปล้วนเป็นผลเสียต่อร่างกาย จากการสำรวจของกรมอนามัยร่วมกับสถาบันโภชนศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าคนไทยส่วนใหญ่รับประทานโซเดียมมากถึงสองเท่าของปริมาณที่แนะนำ (คนไทยกินเกลือเฉลี่ยประมาณ 10.8 กรัม/วัน...ปริมาณเกลือที่แนะนำต่อวันคือ 5 กรัม คิดเป็นโซเดียม 2 กรัม) ซึ่งผลเสียของการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงมีดังนี้

1. เกิดการคั่งของเกลือและน้้าในอวัยวะต่าง ๆ
แม้ว่าโซเดียมมีความจะเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีโซเดียมมากเกินไปทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกายในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงไตยังสามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินได้ทัน แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังซึ่งมักจะไม่สามารถในการกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่าง ๆ เช่น แขนขา หัวใจ และปอด ผลคือทำให้แขนขาบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยโรคหัวใจน้ำที่คั่งในร่างกายจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายมากขึ้น

2. ทำให้ความดันโลหิตสูง
การรับประทานโซเดียมมากเกินทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวานภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆเช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมาพบว่าในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วหากรับประทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมควบคู่กับยาลดความดันโลหิต สามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่าผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิตแต่ได้รับโซเดียมเกินกำหนด

3. เกิดผลเสียต่อไต
จากการที่มีการคั่งของน้ำและความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักขึ้นเพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้นนอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่างเหล่านี้ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น


แนวทางการกินเพื่อลดโซเดียม
1. ไม่ตั้งเครื่องปรุงไว้บนโต๊ะอาหาร (ลดหรืองดเหยาะเกลือ พริกน้ำปลา ซีอิ้ว ลงในอาหารต่าง ๆ)
2. ปรุงอาหารโดยลดปริมาณการเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงลดต่างๆลง
3. ลดอาหารสำเร็จรูป เช่นอาหารบรรจุกระป๋อง อาหารแช่แข็งและ อาหารหมักดอง
4. บริโภคอาหารสดใหม่แทนอาหารสำเร็จรูป
5. เมื่อสั่งอาหารนอกบ้านให้บอกแม่ครัวว่าไม่เค็มและไม่ใส่ผงชูรส
6. หลีกเลี่ยงอาหารจานด่วน เช่น เฟรนไฟรน์ แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด และ พิซซ่า ซึ่งอาหารเหล่านี้มักให้ปริมาณโซเดียมสูง
7. ปรุงอาหารเน้นรสเปรี้ยว รสเผ็ด และเครื่องเทศต่าง ๆ เพื่อให้อาหารให้มีรสชาติดีแทนการเติมผงชูรสหรือซอสปรุงรสในปริมาณมาก
8. ลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุง น้ำจิ้ม เช่น สุกี้ หมูกะทะ รวมถึงควรลดปริมาณน้ำจิ้มที่บริโภคด้วย
9. อ่านปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการทุกครั้งเพื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างก่อนเลือกซื้อสินค้า
 

รูปภาพ

อาหารเค็มและอาหารที่มีโซเดียมสูงถือเป็นมหันตภัยเงียบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความเคยชินในอาหารรสเค็มจัดของคนไทยทำให้ปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เพราะเมื่อเกิดความเคยชินแล้ว ลิ้นของเราก็จะไม่โหยหารสเค็มอีกต่อไป เราจึงมาสร้างนิสัยกินจืดอย่างถูกวิธีกันตั้งแต่วันนี้เพื่อลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไต และเพื่อสุขภาพที่ดีตามมาด้วยชีวิตที่เป็นสุขปราศจากโรคภัย