ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์

http://www.thaihealth.or.th/

เรื่องโดย : พันโท วันชนะ สวัสดี ผู้บังคับกองพัน กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

การละเล่นของเด็กไทยในอดีตทั้ง 3 แบบที่ผมพูดถึงมานี้จะสังเกตว่า ใช้ทักษะการเคลื่อนไหวและความสัมพันธ์ของประสาทการสั่งการของกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กมัดใหญ่ครบ โดยที่เราไม่ต้องเสียงเงินเลยแม้แต่บาทเดียว

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน สำหรับในสัปดาห์นี้ผมมีเรื่องราวที่จะมาคุยให้กับท่านผู้อ่าน เพื่อให้ได้ข้อพิจารณาหรือข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องของ “วิธีการเล่น” ของเด็กสมัยก่อนกับเด็กสมัยปัจจุบันที่แตกต่างกัน ซึ่งผมมองว่าการละเล่นของเด็กสมัยก่อนใช้ทักษะของร่างกายประกอบกับมันสมอง และกล้ามเนื้อต่างๆ ครบถ้วน โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรมากนัก

ส่วนเด็กในสมัยนี้ก็มักจะเล่น “เครื่องคอมพิวเตอร์” จนทำให้ทักษะการเคลื่อนไหวของร่างกายน้อยลง จึงจำเป็นที่จะต้องไปเรียน หรือเข้าคอร์สเสริมตามมา ซึ่งค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็น และผมยังเห็นว่า “วิธีการเล่น” ของเด็กสมัยก่อนไม่เคยล้าสมัยอีกด้วย เด็กสมัยนี้ก็สามารถที่จะนำการละเล่นสมัยก่อนมาใช้ในปัจจุบันได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ลำดับต่อไปนี้ผมจะค่อยๆ เล่าถึงการเล่นของเด็กสมัยก่อนประกอบกับการวิเคราะห์การใช้ทักษะของร่างกายไปพร้อมๆ กัน ผมจำได้ว่าในสมัยก่อนนั้นผมเคยเล่น “หมากเก็บ” ซึ่งเป็นการนำก้อนหิน 5 ก้อนมาเล่น เริ่มตั้งแต่การหาก้อนหินก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์แล้วครับ คนที่เล่นได้มีฝีมือเซียนจริงๆ จะสังเกตว่าก้อนหินของเค้าจะไม่มีเหลี่ยมคมนั่นหมายความว่า ก้อนหินนั้นผ่านการเล่น การกลิ้งที่มาก จึงทำให้มน กลม ไม่มีรอยคมแหลม

วิธีการเล่น “หมากเก็บ” นี้ ถือว่าต้องใช้ทักษะหลายส่วน ตั้งแต่การกะระยะในการโยนลูกหิน เพื่อให้สามารถรับและหยิบก้อนหินได้ทัน ถ้าโยนต่ำไปก็จะไม่สามารถรับได้ทัน ในขณะเดียวกันในการหยิบก้อนหินไม่ว่าจะเป็นหนึ่งลูกสองลูกสามลูกก็จะต้องวางแผนในการโยน เพื่อให้ลูกหินนั้นเกาะกลุ่มกันจะได้ง่ายต่อการหยิบอีกด้วย นับว่าเป็นการวางแผนตั้งแต่ต้น

ถัดมาในการขึ้นก้อนหินที่หลังมือจะเป็นการนับคะแนน ก็จะต้องวางแผนเช่นเดียวกัน ถ้าเราเล่นให้เกมส์ที่ 50 คะแนนเราก็จะขึ้น ลูกหินทีละ 5 แต่ถ้าเราขึ้นได้ไม่ครั้งละ 5 ก็จะต้องวางแผน เพราะถ้าในตาสุดท้ายเราขึ้นลูกหินเกินก็จะถือว่าติดลบไป จะเห็นได้ว่าวิธีการเช่นนี้ ต้องใช้ทักษะและการวางแผนพอสมควร นอกเหนือจากการใช้ทักษะความสัมพันธ์ของประสาทตา การกะระยะการวางแผนแล้วมาเก็บ

จึงถือได้ว่าเป็น “วิธีการเล่น” ที่มหัศจรรย์มากสำหรับผม ต่อมานอกเหนือจาก “หมากเก็บ” แล้วก็ยังมีการละเล่นอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เล่นเตย” จะเป็นการแบ่งข้างสองฝ่ายสนามที่เล่นจะมีเส้นคั่นฝ่ายเป็นผู้รับจะต้องยืนที่เส้น และกั้นไม่ให้คนวิ่งผ่านเส้นแต่ละเส้นไปได้ ส่วนฝ่ายผู้เล่นก็จะต้องวิ่งผ่านเส้นไปจนสุด และวิ่งกลับมาเข้าที่เดิมให้ได้ ถ้าใครถูกฝ่ายรับแตะตัวก็จะถือว่าหมดสิทธิ์การเล่น

จะเห็นได้ว่าการ “เล่นเตย” นี้ต้องใช้ทักษะการเคลื่อนไหว ทั้งไปด้านหน้า ไปด้านข้าง ไปด้านหลัง รวมถึงจะต้องใช้ความเร็วในการวิ่ง ทักษะการหลบหลีก เห็นไหมครับว่า เฉพาะสองการละเล่นนี้ก็สามารถใช้ทักษะที่มากพอสมควรแล้ว โดยที่เด็กสมัยก่อนนั้นไม่ต้องเสียเงินในการซื้ออุปกรณ์การเล่นเลยแม้แต่บาทเดียวครับ

ต่อมาที่ผมอยากพูดถึงการละเล่นอีกชนิดหนึ่งเพื่อให้สมทบกันครบในการใช้ระบบของร่างกายนั่นก็คือ“การเล่นตาเขย่ง” ครับ สำหรับ “ตาเขย่ง” นั้นก็จะใช้ทักษะในการโยนเบี้ยให้ตรงในช่อง อันนี้ถือเป็นทักษะมือและการกะระยะด้วยสายตาครับ ต่อมาในการเขย่งนั้นแน่นอนครับว่าจะต้องใช้ทักษะกำลังขาในการกระโดดไปในช่องต่างๆ แต่ก็จะมีอีกช่วงหนึ่งของ “ตาเขย่ง” ที่ต้องใช้เบี้ยวางบนหลังเท้าและเดินไปพอถึงตาที่จะต้องเอาเบี้ยลงพื้น เราก็จะต้องโยนเบี้ยจากเท้าลงไปที่พื้น

เห็นไหมครับ “ตาเขย่ง” ก็จะต้องใช้ทักษะของการออกกำลังกายหลายส่วน ทั้งประสาทตา การระยะประสาทมือในการโยน รวมถึงต้องใช้เท้าในการเคลื่อนไหว และเขย่งอีกด้วย การละเล่นของเด็กไทยในอดีตทั้ง 3 แบบที่ผมพูดถึงมานี้จะสังเกตว่า ใช้ทักษะการเคลื่อนไหวและความสัมพันธ์ของประสาทการสั่งการของกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กมัดใหญ่ครบ โดยที่เราไม่ต้องเสียงเงินเลยแม้แต่บาทเดียว

ประโยชน์ที่ได้ตามมาอีก นั่นคือเรายังได้สร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อนฝูงที่เล่นด้วยกันอีกด้วย ซึ่งผมเห็นว่าทั้ง 3การละเล่นนี้เด็กสมัยใหม่ก็สามารถนำมาใช้เช่นเดียวกัน น้องๆ หนูๆ อย่าลืมมัวแต่อยู่แต่ในห้องและ “เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์” นะครับ ลองหาเวลามาออกกำลังกายชวนเพื่อนๆ ออกมาเล่นกัน ส่วนวิธีการเล่นนั้นก็ลองถามคุณพ่อคุณแม่ดูก็ได้เพราะผมเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ของน้องๆ เล่นเป็นกันทุกคนครับ

สำหรับสัปดาห์นี้คงเพียงพอแค่นี้ก่อนนะครับ กลับมาพบกับผมได้ใหม่ในสัปดาห์หน้าสวัสดีครับ