เรื่องโดย : รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

http://www.thaihealth.or.th/

อุบัติการของโรคภูมิแพ้จากการสำรวจทั่วโลก และการสำรวจในประเทศไทยเอง พบว่า เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า  ภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา 

 

 

ขณะนี้ประเทศไทยมีอุบัติการของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้  คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ  23-30, โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้  หรือโรคหืด  ร้อยละ  10-15, โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้  ร้อยละ  15  และโรคแพ้อาหาร  ร้อยละ  5  โดยอุบัติการในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่

โรคภูมิแพ้นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ, เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่  และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, หูชั้นกลางอักเสบ, นอนกรน, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, ผิวหนังติดเชื้อ

สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดจาก กรรมพันธุ์ และ สิ่งแวดล้อม โดยพบว่าถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50   แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70   ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10    เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัจจัยทางกรรมพันธุ์ได้     การควบคุมสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา  ตลอดจนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม  จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในบุตรได้

ทำไมการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

เนื่องจากโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีการศึกษาที่แสดงว่า  สิ่งแวดล้อมและอาหารเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้  ดังนั้นการกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ  เช่น  ควันบุหรี่  ตั้งแต่แรกในเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูง)  และการให้เด็กดื่มนมมารดาจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้     ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีโรคภูมิแพ้ร่วมกันหลายชนิด  เช่นเด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังอาจพบมีการแพ้อาหารร่วมด้วย    ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะสามารถลดอัตราการเกิดของการแพ้อาหารได้    การดื่มนมมารดาหรือนมสูตรพิเศษ (extensively hydrolyzed  formula หรือ partially hydrolyzed formula)  ซึ่งเป็นนมที่มีการสลายโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้  นอกจากนี้การดื่มนมที่ผสมจุลินทรีย์สุขภาพ  (probiotic bacteria)  เช่น แลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม  ซึ่งเป็น  จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันและลดอัตราการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้

รับประทานอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

เด็กที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้  ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีโปรตีนซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย   โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

• ดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่ต้องจำกัดอาหารเป็นพิเศษสำหรับมารดาช่วงระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร

• กรณีที่ไม่สามารถให้นมมารดาได้   ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมสูตรพิเศษจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี

• ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมวัว และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี

• ไม่แนะนำให้ดื่มนมถั่วเหลือง นมแพะ  นมแกะ  ทั้งนี้เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว

• ควรให้อาหารเสริมเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน โดยแนะนำให้เด็กรับประทานอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ภายในหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่ อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด  กล้วยน้ำว้า  ฟักทอง น้ำต้มหมู  น้ำต้มไก่  ผักใบเขียว

• ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่และอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ จนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ปี

• ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วและปลาจนกระทั่งเด็กมีอายุ 3 ปี

สำหรับเด็กที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้  ควรดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารบางอย่างที่แพ้ง่าย (เช่น ไข่ ถั่ว ปลา)   อาจเพิ่มสารอาหารอื่นๆ ที่อาจเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่ สังกะสี  วิตะมินเอ  ซิลีเนียม และนิวคลีโอไทด์  นอกจากนั้น การบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวบางชนิดเช่น docosahexaenoic acid (DHA) ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว  ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน  เช่น  ไรฝุ่น, สัตว์เลี้ยง, เชื้อรา, แมลงสาบ  ตั้งแต่ขวบปีแรก  โดย

• ใช้เครื่องเรือนน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน

• งดใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้เก้าอี้นอนหรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่น หรือขนสัตว์  ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ   ควรคลุมที่นอน และหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น

• ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน

• ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน, ปลอกหมอน, ผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

• ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ

• ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน

• พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน

• จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ

การปฏิบัติตังดังกล่าว และระวังไม่ให้เด็กได้รับควันบุหรี่, ควันจากท่อไอเสีย, ควันไฟ, ฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่อายุน้อยๆ  สามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้