ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนอย่างมากในการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบัน ขณะเดียวกันความเจริญเหล่านั้นก็เป็นต้นเหตุให้เกิดภัยเงียบที่หลายคนคาดไม่ถึง

เนื่องจากความสะดวกสบายที่มากเกินพอดีเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง มะเร็งตับ ตับวาย ซึ่งอาจส่งผล ให้เสียชีวิตในที่สุด

โรคไขมันเกาะตับ (Nonalcoholic fatty liver disease) บางครั้งเรียก โรคไขมันจุกตับ หรือ ไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ เมื่อดื่มสุราเป็นระยะเวลานานเซลล์ของตับจะได้รับอันตราย ในระยะแรกจะมีไขมันมาพอกที่ตับ หากยังดื่มสุราต่อเนื่องตับจะกลายเป็นตับแข็ง ซึ่งภาวะนี้ตับจะไม่สามารถคืนสภาพกลับสู่ภาวะปกติได้อีก ยิ่งกว่านั้นผู้ที่ดื่มสุรามากอาจเกิดไขมัน พอกตับแบบเฉียบพลันได้

แต่ที่น่าสนใจคือ มีผู้ป่วยเป็นภาวะนี้โดยไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือรับแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่น้อยมากเช่นกัน ซึ่งมักพบในผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง โดยเฉพาะผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 90 ซม. หรือผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 80 ซม. ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง หรือมีหลายปัจจัยร่วมกันก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันเกาะตับ ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยส่วนใหญ่ภาวะ ไขมันพอกตับมักจะเกิดกับผู้สูงวัย และ ผู้ที่มีอายุเกิน 45 ปี ที่การเผาผลาญพลังงานของร่างกายเริ่มเสื่อมลง

ดร.พญ.รุ่งฤดี ชัยธีรกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภาวะไขมันเกาะตับเป็นภาวะที่ไม่แสดงอาการ แต่สะท้อนสภาวะสุขภาพระยะยาวของคนไข้ และยังเป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะก้าวไปสู่การเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ ตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด โรคนี้มักพบในคนทั่วไปที่มีลักษณะอ้วนลงพุง และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง ที่มีผลมาจากการมองข้ามการออกกำลังกาย และมีพฤติกรรมการกินที่ไม่พึงประสงค์

ส่วนการวินิจฉัยโรคมีอยู่หลายวิธี ซึ่งวิธีที่แม่นยำที่สุดคือ การตรวจด้วยการเจาะเนื้อตับไปตรวจ แต่ก็มีความเสี่ยงจากการผ่าตัด ส่วนอีกวิธีมาคือการตรวจด้วย MRI แต่ราคาแพงมาก วิธีที่แม่นยำใกล้เคียงกัน รองลงมาแต่ราคาไม่แพงเท่า คือ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์วิธีพิเศษ เรียกว่า "ไฟโบรสแกน" ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจภาวะไขมันเกาะตับเป็นการเฉพาะ ผู้ที่มีความเสี่ยงจะสามารถรับการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะนี้ได้โดยไม่เจ็บตัว และราคาไม่แพง

นอกจากการนี้ ดร.พญ.รุ่งฤดี ยังแนะนำวิธีการป้องกันโรคนี้ว่า สาเหตุแท้จริงของภาวะไขมันที่มาเกาะตับคือ การที่ร่างกายได้รับแคลอรี่ส่วนเกินมากเกินไป ดังนั้น สามารถป้องกันได้โดยหันมาบริหารการกินอาหาร ซึ่งคนไข้ยังคงกินอาหารได้อย่างอร่อย กินได้ทุกอย่างที่อยากกิน แต่ต้องมีคำว่าพอดีหรือบันยะบันยัง นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคสำคัญ 3 ประการ คือ 1.กินอาหารเช้าแบบราชา กลางวันแบบคนทั่วไป และมื้อค่ำอย่างยาจก 2.ทานอาหารอย่างแกงจืดหรือสลัดผัก หรือผักที่ปรุงสุกด้วยวิธีลวก ต้ม และนึ่ง ซึ่งหากกินกับน้ำพริกจะเข้ากันมาก ทำให้อิ่มแบบไม่อ้วน

3.กินให้หลากหลาย แต่ลดปริมาณการกินด้วยวิธีกินช้าๆ ยืดเวลาให้กระเพาะมีเวลารู้สึกอิ่ม และหมั่นออกกำลังกาย วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วันอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาว่างสามารถออกกำลังกายง่ายๆเช่น ระหว่างวันก็ใช้การเดิน การขึ้นบันได การยืดเส้นยืดสาย การแกว่งแขนในทุกเวลาที่นึกได้ เท่านี้ ก็สามารถสะสมการเผาผลาญพลังงาน ทำให้ลดน้ำหนักได้อย่างได้ผลแล้ว

"อย่าชะล่าใจกับภาวะไขมันเกาะตับ เพราะมีโอกาสกำเริบไปสู่โรคที่ร้ายแรงกว่าโดยไม่รู้ตัว และยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังที่ร้ายแรงอื่นๆ กว่าสิบโรค ดังนั้น หากจัดการภาวะดังกล่าวไม่ให้เกิดความเสี่ยงแล้ว เราก็จะได้สุขภาพดีเป็นอานิสงส์ เรียกได้ว่า เป็นการยิงนก 2 ตัวด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว" พญ.กล่าวสรุป