ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 

http://www.thaihealth.or.th/

 

โรคฉี่หนู, ไข้ฉี่หนูหรือโรคเล็ปโตสไปโรซิสเป็นโรครับจากสัตว์ชนิดหนึ่ง สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เป็นต้น

แต่พบมากในหนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรค ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำขัง

อาการและอาการแสดงของโรคเล็ปโตสไปโรซิส

มีได้ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต กว่า 90% ของผู้มีอาการจะมีอาการเล็กน้อยและมักเป็นแบบไม่เหลือง ส่วนเล็ปโตสไปโรซิสที่มีอาการรุนแรงนั้น พบได้ 5-10% ของผู้ติดเชื้อ

โรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง (anicteric leptospirosis) แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะมีเชื้อในเลือด (leptospiremic phase) ระยะนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งในโรคเล็ปโตสไปโรซิสจะมีลักษณะเฉพาะคือ ปวดบริเวณน่อง หลัง และหน้าท้อง ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการปวดศีรษะมาก โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าหรือหลังเบ้าตา อาการอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ เจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก ผื่น สับสน ไอเป็นเลือด อาการแสดงที่อาจตรวจพบ ได้แก่ เยื่อบุตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต คอแดง กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตับม้ามโต อาจพบอาการดีซ่านได้เล็กน้อย อาการในระยะนี้จะหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ช่วงที่ไม่มีอาการจะนาน 1-3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่สอง

ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ (leptospiruric phase)

ระยะนี้เป็นผลมาจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการและอาการแสดงมีความจำเพาะและความรุนแรงน้อยกว่าในระยะแรก ลักษณะที่สำคัญของโรคในระยะนี้คือ กว่า 15% ของผู้ป่วยจะมีอาการและอาการแสดงของภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไร้เชื้อ (aseptic meningitis) ส่วนใหญ่พบในเด็ก ซึ่งอาจหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วันหรืออาจคงอยู่นานเป็นสัปดาห์ สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบ มักเกิดตามหลังอาการเริ่มแรกของโรคนานหลายเดือน และคงอยู่ได้นานเป็นปี

โรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง (severe leptospirosis)

โรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง หรือกลุ่มอาการเวล (Weil's Syndrome) กลุ่มอาการนี้มีอัตราการตายอยู่ที่ประมาณ 5-15% พบได้เป็นพิเศษในการติดเชื้อในซีโรวาร์ อิกเทอโรฮีมอราเจียอี/โคเปนเฮเกไน (icterohaemorrhagiae/copenhageni) อาการในระยะเริ่มแรกไม่ต่างจากโรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง แต่ไม่มีลักษณะที่แบ่งออกเป็นสองระยะชัดเจน มักแสดงอาการรุนแรงใน 4-9 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ประกอบด้วย

อาการดีซ่าน ที่พบในกลุ่มอาการเวล จะมีลักษณะเหลืองมากจนแทบเป็นสีส้มเมื่อสังเกตทางผิวหนัง มักพบตับโตร่วมกับกดเจ็บ ประมาณ 20% ของผู้ติดเชื้อมีอาการม้ามโตร่วมด้วย มีไม่มากนักที่เสียชีวิตจากภาวะตับวาย

ไตวายเฉียบพลัน

อาการทางปอด เช่น ไอ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย จนถึงระบบหายใจล้มเหลว

ความผิดปกติทางระบบการแข็งตัวของเลือด มีตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น เลือดกำเดา จ้ำเลือดตามผิวหนัง ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

อาการอื่นๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อลายสลายตัว เม็ดเลือดแดงแตก เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอ่อนอักเสบรุนแรง ภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ เป็นต้น

การป้องกัน ควรเริ่มจากการให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่ กลุ่มเสี่ยง ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

- กำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัย

- ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ของโรคดังกล่าว

- หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่

- หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น

- หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ

- รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากแช่ หรือ ยำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ