เรื่องโดย : ศ.นพ.วชิร คชการ ภาควิชาศัลยสาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ 

http://www.thaihealth.or.th/

เมื่อพูดถึงอาการปวด ไม่ว่าจะปวดที่อวัยวะใดก็คงจะไม่มีใครอยากประสบพบเจอ โดยเฉพาะอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ที่ยิ่งเป็นปัญหาของหลายคน เนื่องจากผู้ป่วยมักจะทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน อีกทั้งยังเป็นโรคที่รักษายาก

 

 

อาการของโรคปวดท้องน้อยเรื้อรัง มักพบในเพศหญิงมากกว่าในเพศชาย ราวร้อยละ 90 เป็นเพศหญิง ทั้งนี้ เพราะโครงสร้างทางร่างกาย อวัยวะ และระบบการทำงานเอื้อต่อการเกิดความผิดปกติ

การปวดท้องน้อยเรื้อรังจะปวดบริเวณเชิงกราน ท้องน้อย หรือบริเวณใกล้เคียงเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถประกอบภารกิจได้ตามปกติ หลายคนต้องลาออกจากงาน เพราะเมื่อมีอาการปวดไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป ผู้ป่วยหลายรายมีความผิดปกติทางด้านจิตใจตามมา เช่น อาการซึมเศร้า หรืออารมณ์แปรปรวน

อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมีลักษณะที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับว่ามีความผิดปกติที่อวัยวะส่วนใด หากเป็นอวัยวะด้านสืบพันธุ์สตรี เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาการปวดจะมากหรือน้อยตามวงรอบของฮอร์โมนเหมือนการปวดประจำเดือน หากอาการปวดเกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะก็จะปวดรุนแรงกว่า ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อยมาก บางรายวันละ 40-50 ครั้ง สำหรับการปวดที่เกิดจากลำไส้ก็อาจจะมีความผิดปกติในการขับถ่ายอุจจาระร่วมด้วย หรือถ้าปวดจากกล้ามเนื้อก็จะปวดไปตามแนวกล้ามเนื้อนั้น และมักจะรู้สึกได้ว่าปวดตรงจุดใด จะเห็นได้ว่า อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง เป็นกลุ่มอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุอาการที่พบบ่อย คือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบรุนแรง ซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเหมือนการอักเสบทั่วไป แต่เกิดจากน้ำปัสสาวะซึมเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ตามปกติกระเพาะปัสสาวะจะมีเยื่อบาง ๆ คลุมอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะซึมเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะ เพราะเกลือแร่ต่างๆ ในปัสสาวะ จะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงมาก อาการปวดแบบนี้มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อยร่วมด้วย และปวดมากเมื่ออั้นปัสสาวะ และจะทุเลาลงบ้างเมื่อถ่ายปัสสาวะเสร็จ

การวินิจฉัยและการรักษา ผู้ป่วยส่วนมากมักจะพบแพทย์ท่านอื่นมาก่อนหลายท่าน อาการทุเลาบ้างไม่ทุเลาบ้าง ดังนั้น เมื่อมาพบแพทย์จะต้องทบทวนการตรวจ ผลตรวจต่าง ๆ ผลเอกซเรย์ และยาที่ได้รับในอดีตว่ามียาอะไรบ้าง ตรวจประวัติการผ่าตัดบริเวณหลังท้องน้อย เชิงกรานต่าง ๆ เพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น เกิดเนื้อเยื่อพังผืด

นอกจากนี้ ยังมีการวินิจฉัยจากการซักประวัติ ได้แก่ เวลาที่ปวด บริเวณที่ปวด ปวดร้าวไปบริเวณใดบ้าง มีกิจกรรมหรือเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ปวดมากขึ้น เช่น กลั้นปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์ อาการปวดเกี่ยวข้องกับรอบเดือนหรือไม่ การเดิน การก้าวขาทำให้ปวดมากขึ้นหรือไม่ ที่ผ่านมามีอะไรช่วยบรรเทาปวดได้บ้าง รับประทานอาหารอะไรแล้วทำให้ปวดมากขึ้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยละเอียด ตรวจภายใน ตรวจทางทวารหนัก สำรวจหาจุดปวด ตรวจเอกซเรย์อัลตราซาวด์ ตรวจปัสสาวะ ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ หลังจากได้รวบรวมผลตรวจต่าง ๆ แล้ว หากได้รับการวินิจฉัยแล้วก็จะให้การรักษาตรงจุดนั้น ๆ เช่น หากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ก็จะให้การรักษาทางฮอร์โมน หากพบว่ากระเพาะปัสสาวะมีการอักเสบรุนแรงก็จะให้ยาระงับอาการปวดร่วมกับการใส่ยาในกระเพาะปัสสาวะ