ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.thaihealth.or.th/

 

โภชนาการมีส่วนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อนทางอ้อม การลดบริโภคอาหารแปรรูปจึงสามารถช่วยลดโลกร้อนได้

ดร.กิตติ สรณเจริญพงศ์ รอง ผอ.ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการทำโครงการประเมินติดตามสภาพแวดล้อมด้านอาหารและนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันควบคุมปัญหาโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเมื่อปี 2549 เก็บตัวอย่างในประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 4,056 คน อายุระหว่าง 19-60 ปี จำแนกเป็น กลุ่มที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 2,119 คน กลุ่มน้ำหนักเกิน 808 คน และกลุ่มคนอ้วน 1,129 คน พบว่าทั้ง 3 กลุ่มมีการบริโภคข้าว ผัก 7 ชนิด คือ ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง มะเขือ มะเขือเปราะ มะเขือเทศ และหอม ที่ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แต่พบว่ามีการบริโภคเนื้อหมู ไก่ เนื้อ แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยพบว่าคนอ้วนและคนน้ำหนักเกินนั้นมีการบริโภคที่มากกว่า

ทั้งนี้พบว่าเรื่องของโภชนาการมีส่วนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และปัญหาโลกร้อนทางอ้อม โดยพบว่ากว่าร้อยละ 20-30 ซึ่งมาจากกระบวนการผลิตอาหาร เริ่มตั้งแต่ต้นทางจนถึงกระบวนการแปรรูปกว่าจะไปถึงผู้บริโภคจะเกิดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น เมื่อคนอ้วนและคนน้ำหนักเกินมีพฤติกรรมการบริโภคที่มากกว่า จึงมีแนวโน้มทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่า ขณะเดียวกัน หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขอนาคตยังส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาด้วย อย่างไรก็ตามในเรื่องการรับประทานอาหารยังคงไม่ถึงกับห้ามรับประทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง เรายังต้องรับประทานให้สมดุล ลดเนื้อสัตว์ ลดการรับประทานอาหารแปรรูปพยายามรับประทานอาหารตามฤดูกาล ลดการบริโภคอาหารนำเข้าจากต่างประเทศเพราะในกระบวนการขนส่งจะเกิดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น และเพิ่มผัก ผลไม้ตามธงโภชนาการที่แนะนำ โดยเฉพาะผักปลอดสารพิษ ขณะเดียวกันรัฐก็ควรนึกถึงการทำให้ราคาอาหารเพื่อสุขภาพถูกลงด้วย ตรงนี้ระดับนโยบายมีส่วนสำคัญมาก

"คนอ้วนไม่ได้มีปัจจัยมาจากการรับประทานอาหารเยอะอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากพฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย การป่วยเป็นโรคบางอย่าง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ข้อมูลในปีล่าสุดก็ตาม แต่วันนี้แนวโน้มการผลิตอาหารของไทยไม่ได้มีความแตกต่างกัน และเมืองไทยมีแนวโน้มคนอ้วนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นแนวโน้มว่าอ้วนแล้วเป็นเบาหวาน ถ้าปล่อยเอาไว้จะเป็นการสะสมพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งพบว่าคนอ้วน น้ำหนักเกินจะเป็นเบาหวานในอีก 5 ปีต่อมา ซึ่งจะเป็นภาระแก่ตัวเอง ครอบครัว และระบบสุขภาพด้วย ซึ่งเราอาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัวเรื่องนี้ประเทศแถบตะวันตกตื่นตัวกันมากเกี่ยวกับการคิดถึงผล กระทบจากกระบวนการผลิตอาหารกับสิ่งแวดล้อม เราอาจจะให้ความรู้คนเพิ่มขึ้น เช่น กระป๋องที่เป็นอะลูมิเนียมจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากล่องกระดาษ" ดร.กิตติ กล่าว