ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

http://www.thaihealth.or.th/

นับเป็นเรื่องที่ใครหลายคนให้ความสนใจสำหรับประเด็น "โครงสร้างครอบครัว" ของคนไทยที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะด้วยยุคสมัย ทัศนคติค่านิยม เทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งระบบบริการสาธารณสุขที่ทำให้คนมีอายุยืนขึ้นและเกิดน้อยลง

 

 

ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนให้สังคมไทยกำลังจะเป็น "สังคมสูงอายุ" ในไม่ช้าแล้ว ยังเกิดรูปแบบของ "ครอบครัวใหม่ๆ" ขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวที่แต่งงานแล้วไม่มีลูก และนิยมครองตัวเป็นโสดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วกับคน "เจนเนอเรชั่นวาย" (Generation Y) หรือ "เจนวาย" ที่กำลังเป็นช่วงวัยหลักในการสร้างครอบครัว

แล้วทำไมคนเจนวายยุคนี้จึงไม่นิยมสร้างครอบครัว?

ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รอง ผอ.ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูลในงานเปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 ว่า คนเจนวายหรือคนที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 13-36 ปีนั้น หากดูจากสถิติแล้ว ตอนนี้มีจำนวนประมาณ 22 ล้านคน หรือ 34% ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องแบกรับทั้งการผลิตจีดีพีให้ประเทศ และยังต้องสร้างประชากรด้วย หากไม่บาลานซ์ให้ดีอาจส่งผลให้มีประชากรไม่เพียงพอในอนาคตได้

ซึ่งเราพบว่าสิ่งที่ทำให้คนเจนวายไม่ค่อยสนใจเรื่องสร้างครอบครัว เพราะไลฟ์สไตล์ของคนเจนวายไม่เหมือนคนยุคเดิม

"จากการสำรวจกลุ่มเจนวายพบว่า การวางแผนของคนเจนวายนั้นจะให้ความสำคัญกับการเรียนต่อเป็นลำดับแรก แล้วค่อยคิดถึงความมั่นคงเรื่องงาน โดยส่วนใหญ่มองว่าปริญญาตรีนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป จะใช้ดีกรีที่ได้มาเพื่อหางานที่ดีกว่า ทำให้คนกลุ่มนี้อยู่ไม่ค่อยทน เมื่อวางแผนงาน แล้วก็จะมองเรื่องซื้อรถ ก่อนจะซื้อบ้าน สิ่งที่ตามมาลำดับสุดท้ายคือการสร้างครอบครัวแต่งงาน และค่อยมีลูก เมื่ออายุ 30 เป็นต้นไป นี่ทำให้แม้จะคิดว่าอยากจะมีลูกก็ล่วงเลยเวลาเจริญพันธุ์ไปกว่าครึ่ง ทำให้มีลูกยาก คลินิกปรึกษาปัญหาเรื่องลูกจึงเยอะขึ้นมากกว่าเดิม" ผศ.ดร.ภูเบศร์กล่าว

ผศ.ดร.ภูเบศร์เผยอีกว่า ปัจจุบันคนนิยมครองตัวเป็น "โสด" มากขึ้น ส่วนคนที่แต่งงานแล้วมักจะตัดสินใจ "ไม่มีลูก" หลังแต่งงาน "เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนคิดว่ากว่าจะมีลูกหนึ่งคนต้องใช้เงินมาก ค่าเฉลี่ยที่ต้องใช้ต่อคนอยู่ที่ 1.9 ล้านบาท ซึ่งคนเจนวายไม่ได้มองว่าลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจเหมือนคนยุคก่อน แต่มองว่าคือสิ่งเติมเต็มให้ชีวิตสมบูรณ์เท่านั้น หลายคนจึงคิดหนักที่ต้องปันเงินที่จะเติมเต็มส่วนอื่นอย่างซื้อบ้าน รถ ไปท่องเที่ยว มาให้กับการมีลูก"

นอกจากนี้ความเท่าเทียมของชายหญิงก็เป็นเรื่องสำคัญ ผู้หญิงจะไม่ยอมมีลูก หากไม่มั่นใจว่าสามีจะช่วยแบ่งเบาภาระ ที่สำคัญคือหลายคนกลัวว่าจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดีในสังคมแบบนี้ สุดท้ายหากตัดสินใจมีลูกก็จะอยู่เพียงแค่ 1-2 คน

ผศ.ดร.ภูเบศร์จึงเสนอว่า หากทัศนคติของคนเจนวายเป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อจำนวนประชากรในอนาคตได้ สภาพสังคมของไทยจึงควรต้องเอื้อต่อการมีลูกมากกว่านี้ ทั้งความปลอดภัยและนโยบายที่ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งบทบาทของสามี ภรรยา และความยืดหยุ่นของเวลาและรายได้ หลายครอบครัวใช้วิธีให้คนหนึ่งมีรายได้มั่นคงและคนหนึ่งเป็นฟรีแลนซ์ยืดหยุ่นเพื่อดูแลลูกได้

"แม้ทัศนคติเปลี่ยนยาก แต่เปลี่ยนได้ ยิ่งกับยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้ ภาพความน่ารักของเด็กๆ ถือเป็นแรงจูงใจไม่น้อยทีเดียว" ผศ.ดร.ภูเบศร์กล่าวทิ้งท้าย