ที่มา : มติชน 

http://www.thaihealth.or.th/

 

ได้ยินคำว่า "โรคมะเร็ง" แล้วไม่ว่าจะเกิดที่ตำแหน่งใด อวัยวะใดของร่างกายเราก็ไม่อยากให้เกิดกับตัวเราหรือคนใกล้ชิดทั้งนั้น เพราะฟังดูแล้วเป็นโรคที่รุนแรง รักษายาก มีโอกาสเสียชีวิตได้มาก ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่เอาใจใส่สุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดสารพิษ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคร้าย เช่น บุหรี่ เหล้า หมากพลู เป็นต้น

ถึงแม้ว่าเราจะดูแลสุขภาพตัวเองดีแค่ไหน ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งได้เช่นกัน มะเร็งในบางตำแหน่งสามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้

มะเร็งช่องปาก หากตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยไว้นานจนมะเร็งลุกลามไปมากก็อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรืออาจเกิดความพิการภายหลังการรักษาได้ การตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากในระยะเริ่มแรกสามารถทำได้โดยการไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก หากพบความผิดปกติใดก็จะเริ่มให้การรักษาได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำพร้อมกับการตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน หรือเมื่อเราไปพบทันตแพทย์กรณีที่มีปัญหาเรื่องฟัน

การตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากตัวเราเองสังเกตความผิดปกติภายในช่องปากเราเอง เช่น มีแผลในปากเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ มีรอยฝ้าขาวหรือรอยแดงในปาก มีตุ่มหรือก้อนที่โตเร็ว มีอาการชา มีปัญหาในการเคี้ยวหรือกลืนอาหาร เป็นต้น หากมีความผิดปกติดังกล่าวก็น่าจะไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ซึ่งอาจจะไม่ใช่โรคมะเร็งก็ได้

การตรวจดูในช่องปากเราเองเป็นประจำที่บ้านก็มีประโยชน์ในการช่วยคัดกรองมะเร็งช่องปากระยะเริ่มแรกเช่นกัน การตรวจทำได้ไม่ยากโดยการใช้กระจกส่องหน้าธรรมดาตรวจดูบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานและคอหอย ว่ามีความผิดปกติใดๆ ข้างต้นหรือไม่ ตรวจดูลิ้นโดยการแลบลิ้นออกมายาวๆ ขยับลิ้นไปซ้ายขวา และยกลิ้นขึ้นเพื่อดูบริเวณใต้ลิ้น หลังจากตรวจดูด้วยตาเปล่าแล้วควรใช้นิ้วลูบหรือกดตามบริเวณดังกล่าวเพื่อคลำหาก้อนหรือส่วนที่แข็งเป็นไตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ไม่มีใครอยากเป็นมะเร็ง แต่หากเป็นแล้วก็ควรจะตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อให้สามารถรักษาได้ผลดีที่สุดหรือสามารถหายขาดจากโรคร้ายได้