ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

http://www.thaihealth.or.th/

 

สสจ.สงขลา เตือนประชาชนหากไม่ล้างมือ-ไม่อุ่นอาหารที่ค้างมื้อให้สุกเดือดก่อนรับประทาน จะเสี่ยงต่อโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ทำให้ขาดน้ำและเกลือแร่ที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดต่อของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา พบว่า สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงของจังหวัดสงขลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 20 เมษายน 2559 พบผู้ป่วยจำนวน 4,969 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 1,321.83 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นอัตราป่วย 416.61 และ 387.98 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

โดยโรคนี้เกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำ เครื่องดื่มที่ไม่สะอาดมีการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยอาการของโรคอุจจาระร่วง หลังรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคแล้ว ประมาณ 10-12 ชั่วโมง หรือ 24-72 ชั่วโมง (ขึ้นกับชนิดของเชื้อก่อโรค) จะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด แม้เพียง 1 ครั้ง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย และอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ในทารกและเด็กเล็ก ที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจมีไข้ต่ำๆ เป็นหวัด ต่อมามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเหลวตามมา

ส่วนโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เห็ด หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ และไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทานจะทำให้เป็นโรคนี้ได้ อาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดท้อง เนื่องจากเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ซึ่งถ้าถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต จะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

การดูแลตนเองเบื้องต้นในระยะเริ่มแรกที่มีอาการอุจจาระร่วง หรืออาเจียนเล็กน้อยควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ หรืออาหารเหลว โดยอาจเป็นน้ำข้าว น้ำแกงจืด น้ำผลไม้ หรือข้าวต้ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) บ่อยๆ เพื่อเป็นการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป แต่ถ้าผู้ป่วยยังถ่ายบ่อย และมีอาการมากขึ้น เช่น อาเจียนมากขึ้น ไข้สูง หรือชัก หรือเกิดอาการขาดน้ำ ควรพาไปตรวจรักษาที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านโดยเร็ว สำหรับเด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมแม่ต่อไปร่วมกับป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ 

สำหรับเด็กที่ดื่มนมผง ให้ผสมนมตามปกติ แต่ให้ดื่มเพียงครึ่งเดียวของปริมาณที่เคยดื่ม แล้วให้ดื่มสารละลายน้ำตาล เกลือแร่สลับกันไป (ไม่ควรผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ลงในนมผสม) เริ่มให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม ภายใน 4 ชั่วโมงหลังจากดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้อาหารและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และหยุดให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หลังจากนั้นให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย โดยกินครั้งละน้อยๆ และเพิ่มจำนวนมื้อ ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในร่างกายซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อจะได้รับประทานยาในชนิดที่เหมาะสม

นายแพทย์สรรพงษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารดังกล่าว ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ หรือห้องส้วมทุกครั้ง ดื่มน้ำที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก และรับประทานอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลทุกวัน เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นการแพร่โรคจากผู้ป่วยได้

สำหรับผู้ประกอบอาหาร และพนักงานเสิร์ฟอาหาร ควรหมั่นล้างมือหรือสวมถุงมืออนามัยก่อนจับต้องอาหารทุกครั้ง ดูแลรักษาความสะอาดภายในครัว และอุปกรณ์เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ตลอดจนกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารทุกวัน และหากมีอาการอุจจาระร่วง หรือมีบาดแผลติดเชื้อ มีหนองทีมือ ควรหยุดปฏิบัติงานจนกว่าจะหาย หรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ