ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.thaihealth.or.th/

 

นักวิชาการ มธ. เผยเยาวชน "LGBT" หรือเพศทางเลือก ถูกแกล้งถี่ 4.5 เท่าของเด็กปกติเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า สูญเสียตัวตน แนะสถานศึกษาปลูกฝังทัศนคติที่เปิดกว้างยอมรับความแตกต่างของคนในสังคม ผ่านการเรียนการสอนที่สอดแทรกการใช้ชีวิตบนค่านิยม 3 เท่า ระบุเท่าทัน เท่าเทียม และเท่าที่ควร

เมื่อเร็วๆ นี้ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มธ. ได้กล่าวในงานเสวนาสาธารณะ "สุขภาพและสุขภาวะของกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกในปัจจุบัน" (The Health and Wellbeing of LGBT Students: making Things Better) ว่า มีการเผยผลงานวิจัย ยูธ2000 จากประเทศนิวซีแลนด์ระบุว่า กลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกมีจำนวนโดยประมาณอยู่ที่ 5-10% ของประชากรนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 6 เท่า และมีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายสูงถึง 5 เท่า เทียบกับเด็กทั่วไป โดยมีสาเหตุหลักมากจากการต้องเผชิญกับพฤติกรรมความรุนแรงของเพื่อนร่วมชั้นที่กระทำเพราะความเกลียดกลัวและแบ่งแยกกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ปกติ

รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวอีกว่า พฤติกรรมความรุนแรงดังกล่าว หมายรวมถึงการกลั่นแกล้งทางวาจา และการทำร้ายทางร่างกาย แม้ว่าความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้กับนักเรียนโดยทั่วไป แต่คนที่มีความแตกต่างจะมีโอกาสโดนรังแกได้มากกว่าโดยจากผลวิจัยพบว่า กลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกจะถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนถี่กว่านักเรียนปกติถึง 4.5 เท่าในขณะที่มีการถูกทำร้ายร่างกายเป็น 2 เท่า จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกเกิดความกดดัน เครียดและซึมเศร้า หลายคนจึงหาทางออกด้วยการเสพความสุขที่ไม่ส่งผลดีในระยะยาว อาทิ การดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งทั้งหมดอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมเรื้อรังต่อไปในอนาคต หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

"ในฐานะคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ที่มุ่งพัฒนาการศึกษายุคใหม่ไปพร้อมกับทักษะในการใช้ชีวิต เชื่อว่า สถานศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการปลูกฝังเยาวชนให้มีทัศนคติที่เปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่างของคนในสังคมได้ ผ่านการเรียนการสอนที่สอดแทรกการใช้ชีวิตบนค่านิยม 3 เท่า อันได้แก่ 1.เท่าทัน การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร เยาวชนควรมีทักษาะในการคัดกรอง วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ ตลอดจนเลือกรับสารที่เป็นประโยชน์ เหมาะสมกับตนเองได้โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคมที่ชวนเชื่อ 2.เท่าเทียม การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางประชากรศาสตร์ และการแสดงออกทางความคิด ทุกคนควรเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียม และ3.เท่าที่ควร การจะเข้าสังคมได้อย่างมีความสุข ทุกคนต้องรู้จักปฏิบัติตัวและแสดงออกอย่างพอเหมาะพอดี ต้องมีมารยาทและกาลเทศะ รวมไปถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ขององค์กร และกฎหมายของบ้านเมือง" รศ.ดร.อนุชาติ กล่าว