ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

http://www.thaihealth.or.th/

 

 

เราจะได้ยินจากสื่อต่าง ๆ ที่ใช้คำว่า "ผู้สูงวัย" ก็จะเข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เป็นผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง เดินไปเดินมาได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ดีพอสมควร

แต่ก็เป็นความจริงที่ว่า ผู้สูงวัยเหล่านี้จะทำนายอายุได้ไม่ง่ายและไม่ใกล้ความจริงนัก เพราะบางคนก็ดูหนุ่มกว่าวัย บางคนก็ดูแก่กว่าวัย ดังนั้นความแตกต่างเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิต (Life style) และสุขภาพของแต่ละท่านซึ่งอาจจะหมายถึงมีโรคสืบทอด ทางพันธุกรรมหรือไม่ มีโรคประจำตัวอื่นใดหรือไม่ มีโรคที่มากับความเสื่อมหรือไม่ หนักเบาเพียงใด

หากจะใช้อายุเป็นเกณฑ์เพื่อให้เข้าใจตรงกัน อาจารย์ประคองศิริ  บุญคง ที่ปรึกษากองพัฒนายาไทยและยาสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้เกณฑ์ไว้ว่า "ผู้สูงอายุ" หมายถึงผู้ที่มีอายุสูง กว่า 40 ปี ซึ่งอาจแบ่งเป็น "วัยกลางคน" อายุ 40-60 ปี และ "วัยชรา" อายุ 60 ปี ขึ้นไป

ผู้สูงอายุนี้มีโอกาสเป็นได้ทั้งโรคขาดอาหาร และเกินอาหาร โดยเฉพาะโรคเกินอาหารในบุคคลที่กินดีอยู่ดี มีอาหารสมบูรณ์ เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป โอกาสอ้วน และลงพุงมีมาก เนื่องจากได้อาหารดี แต่ขาดการออกกำลังกาย หรือใช้แรงงานน้อย มีทางที่จะเพิ่มน้ำหนัก จึงควรควบคุมไว้ให้ดี ด้วยการระวังอาหารการกิน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และเป็นวัยที่มาพร้อมกับความเสื่อมถอยของร่างกาย โดยการเปลี่ยนแปลงที่มักพบในผู้สูงวัย ได้แก่ ตาพร่ามัว การทำงานของระบบทางเดินอาหารช้าลง ย่อยช้า การขับถ่ายช้า ข้อเสื่อม กระดูกบาง สมองฝ่อ หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตัน ผิวหนังหย่อนยาน สัดส่วนน้ำกับไขมันใต้ผิวหนังลดลง

เมื่อแบ่งกลุ่มโรคที่มักจะเกิดในผู้สูงวัย จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคที่พบได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยสูงอายุ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โดยโรคเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอายุโดยตรง แต่เกิดจากการละเลยการดูแลสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ความอ้วน และความเครียด เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเพิ่มขึ้น อีกกลุ่มคือ กลุ่มโรคของผู้สูงอายุ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ กระดูกพรุน ข้อเสื่อม โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ (ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย และปัสสาวะเล็ดในผู้หญิง)

วัยนี้มักขาดโปรตีน เหล็ก แคลเซียม และวิตามินบี 1 เป็นช่องทางให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายและอวัยวะบางส่วนเสื่อมสมรรถภาพ ผู้สูงอายุต้องการสารอาหารต่างๆ เช่นเดียวกับบุคคลวัยอื่นๆ แต่ควรเอาใจใส่สิ่งต่อไปนี้เป็นพิเศษ คือ แคลอรี คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ควรลดให้น้อยลง โปรตีน ควรกินที่มีคุณภาพดี ย่อยง่ายให้มาก การกินโปรตีนยังทำให้ได้เหล็ก ไขมัน วิตามิน และแคลเซียมด้วย ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนหรือเป็นโพรง การขาดโปรตีนทำให้มีการบวม ผิวหนังเป็นผื่นคัน เหนื่อยและอ่อนเพลีย เป็นแผลแล้วหายยาก และความต้านทานโรคต่ำ แคลเซียมและเหล็ก ผู้สูงอายุควรได้แคลเซียมอย่างน้อยวันละ 800 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ช่วยการแข็งตัวของเลือด การยืดหดของกล้ามเนื้อและประสาทสมบูรณ์ด้วย

ส่วนเหล็กนั้นช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง วิตามิน โดยเฉพาะวิตามิน บี 1 บี 2 และ ซี ควรกินให้มาก ด้วยวิตามิน บี 1 ช่วยการทำงานของหัวใจและระบบประสาท ทำให้อยากอาหารมากขึ้น อวัยวะย่อยอาหารทำงานดีขึ้นและป้องกันท้องผูก ส่วนบี 2 ก็ควรกินเพิ่มขึ้นเช่นกัน สำหรับวิตามิน ซี นั้น ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม สุขภาพแข็งแรงและน้ำ คนวัยนี้มักมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและการขับถ่าย จึงควรดื่มน้ำวันละประมาณ 5-8 แก้ว

ในอีกมุมหนึ่งผู้สูงอายุทั้งหลายส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทานฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารจานด่วน เพราะส่วนใหญ่มิได้ประกอบอาชีพที่รีบเร่งแล้ว และมากกว่า 70-80% รับประทานข้าวเป็นประจำ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นของดี เพราะข้าวไทยนั้นเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยม ได้รับการวิเคราะห์มามากมายจากสถาบันโภชนาการที่สำคัญ ๆ ของประเทศมาแล้วมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่นิยมกันทั่วไปทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากจะมีความนุ่มแล้วยังมีกลิ่นหอมรับประทานอร่อย ข้าวหอมมะลินี้เป็นพันธุ์ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อให้ได้แคลอรีที่ต่ำ ไม่ให้พลังงานสูงเกินไปไม่ใช้ข้าวกล้องเนื่องจากมีสารโฟเลตที่จะขัดขวางการดูดซึมของแร่ธาตุผู้สูงวัยส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องฟันและการกลืนด้วย สารอาหารที่ได้รับจากเมล็ดข้าวมีแป้ง เป็นหลัก โดยมีคาร์โบไฮเดรตสูงถึง 71-77 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือโปรตีน 5-8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งให้พลังงานต่อร่างกายและมีวิตามินบี 1 ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา วิตามีนบี 2 ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญอีกหลายชนิด เช่น เหล็ก แคลเซียมและฟอสฟอรัส

ข้าวกล้องงอก เป็นการนำข้าวกล้องมาผ่านกระบวนการงอก ซึ่งโดยปกติแล้ว ในตัวข้าวกล้องเองประกอบด้วยสารอาหารจำนวนมาก เช่น ใยอาหาร กรดไฟติก (Phytic acid) วิตามินซี วิตามินอี กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น อาร์จินีน กลูตามีน เซอร์ลีน กลูตาเมต อะลานีน โพรลีน วาลีน ลิวซีน และ GABA (gamma aminobutyric acid) ซึ่งช่วยป้องกันโรค ต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน และช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว เป็นต้น เมื่อนำข้าวกล้องมาแช่น้ำเพื่อจะทำให้ข้าวกล้องมีสารอาหาร โดยเฉพาะ GABA เพิ่มขึ้น ข้าวกล้องงอกยังมีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟิโนลิค (phenolic compounds) ช่วยยับยั้งการเกิดฝ้า ชะลอความแก่ สารออริซานอล (orizanal) ช่วยควบคุมระดับ ลดอาการผิดปกติของวัยทอง

สารกาบา (GABA) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นสารสื่อประสาท ในระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ (ความจำเสื่อม) ช่วยผ่อนคลาย ทำให้จิตใจสงบ หลับสบาย ลดความเครียดวิตกกังวล ลดความดันโลหิต เยื่อใยอาหาร (food fiber) ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันมะเร็งลำไส้ และลดอาการท้องผูก วิตามินอี (vitamin E) ลดการเหี่ยวย่นของผิว นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุ แมกนีเซียม ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โพแทสเซียม ลดความดันโลหิต และสังกะสี ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงเล็ก และแร่ธาตุต่างๆ คือ เหล็ก สังกะสี ซิลิเนียม แคลเซียม และอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ข้าวกล้องงอกมีกรด ไขมันไลโนเลอิก และโอเลอิก ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง เสริมสร้างเซลล์ผิวหนัง และระบบสืบพันธุ์ให้ดีขึ้น

เป็นเพียง 2 ตัวอย่าง ของข้าวพันธุ์ไทยที่มีคุณค่าทางอาหาร เหมาะกับคนไทยวัยต่าง ๆ และความจริงก็เหมาะกับทุก ๆ ชนชาติที่รับประทานข้าวไทยด้วย นอกจากนั้นยังมีข้าวไทยอื่นๆ ชื่อแปลกๆ อันเป็นที่นิยมอยู่อีกมากมายหลายชื่อ เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวดอกพะยอม ข้าวหอมมะลิแดง เหล่านี้ล้วนเป็นข้าวสาลี หรือข้าวพันธุ์พื้นเมืองภายใต้แนวทางเกษตรอินทรีย์ และท้ายสุดข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นอีกพันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะมีสรรพคุณมากมายซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป

ข้อมูลจาก อาจารย์ประคองศิริ  บุญคง ที่ปรึกษากองพัฒนายาไทยและยาสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข