ที่มา :  เว็บไซต์เดลินิวส์

http://www.thaihealth.or.th/

 

 

เรื่องโดย : พญ.วัจนา ลีละพัฒนะ และ ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ความรู้สึกเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยคนนั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งก็อาจจะถึงเวลาที่ควรจะเยียวยาผู้ดูแลผู้ป่วยด้วยอีกหนึ่งคน เป็นธรรมดาของผู้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้ดูแลหลัก หากเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้สูงอายุทุพพลภาพ ที่ผู้ดูแลอาจรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายได้ในบางเวลาที่จะต้องแบกภาระดูแลผู้ป่วย

 

 

เมื่อมีความรู้สึกดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หรือมีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้ดูแลคนนั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งก็อาจจะถึงเวลาที่ควรจะเยียวยาผู้ดูแลผู้ป่วยด้วยอีกหนึ่งคน ความรู้สึกเหล่านี้

อาจเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ มีอะไรบ้างไปลองสำรวจตัวเองกันดู ดังนี้

1. อยากจะหนีไปให้พ้นความรับผิดชอบที่ดูเหมือนทับถมกันมากขึ้นทุกที

2. รู้สึกเหมือนกำลังรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เพียงคนเดียว

3. กิจวัตรประจำวันช่างดูยุ่งเหยิง และวุ่นวายสับสนไปหมด

4. ไม่มีเวลาได้ออกไปข้างนอก เข้าสังคม หรือทำธุระส่วนตัว

5. การกิน อยู่ หลับนอน ของผู้ดูแลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

6. น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เบื่อหน่ายไปหมด

7. หงุดหงิด โกรธง่าย แม้กับสาเหตุเพียงเล็กน้อย

8. ไม่มีสมาธิจดจำสิ่งต่าง ๆ หลงลืมแม้แต่สิ่งสำคัญ

9. ใช้ยาหรือสารเสพติดมากกว่าเดิม เช่น ยานอนหลับ เหล้า บุหรี่

ทั้งนี้ ถ้าหากผู้ดูแลผู้ป่วยท่านใดที่เข้าข่ายอยู่ในอาการดังกล่าวนี้หลายข้อมากจนเกินไป แนะนำให้วางแผนการดูแลให้ดี อย่าให้เป็นภาระตกหนักที่ใครเพียงคนเดียวตลอดเวลา หากเป็นไปได้อาจให้ผู้อื่นมาทำหน้าที่ดูแลชั่วคราวเป็นครั้ง ๆ เพื่อให้ผู้ดูแลหลักมีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวบ้าง

นอกจากนี้ ยังแบ่งหน้าที่ด้านต่าง ๆ ให้แก่ญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ได้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน การทำความสะอาดบ้าน หรือหน้าที่พาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล หาเวลาพักผ่อนไปทำกิจกรรมที่ตนเองชอบบ้าง เพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือไปพบปะสังสรรค์พูดคุยเข้าสังคม ที่สำคัญยังต้องดูแลรักษาสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย และหมั่นเติมกำลังใจซึ่งกันและกัน ก็จะลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้