ใครจะคาดคิดว่าปัญหาเด็กไทยเตี้ยกว่ามาตรฐาน เด็กขาดอาหาร จะย้อนกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง

 

 

การปี 2568 โดย 5 เป้าหมาย คือ 1.แก้ปัญหาภาวะเตี้ย 2.แก้ปัญหาภาวะผอม 3.แก้ปัญหาภาวะน้ำหนักเกินในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 4.แก้ปัญหาภาวะโลหิตจางในผู้หญิงอายุระหว่าง 15-49 ปี และ 5.ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาอย่างเดียว สำหรับทารกอายุ 0-6 เดือน

ปรากฏผลว่า...ประเทศไทยที่เคยเป็นต้นแบบในด้าน การจัดการโภชนาการแม่และเด็ก วันนี้ถือว่า "สอบตก"

มองในแง่ของพัฒนาการด้านการจัดการโภชนาการในเด็ก เมื่อเปรียบเทียบในระดับอาเซียน เวียดนามยังได้คะแนนมากกว่าไทย เพราะยังพบภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ทั้งปัญหาเด็กน้ำหนักเกิน และเตี้ยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ทั้งนี้ การประชุมรายงานโภชนาการโลก 2015 เป็นการรายงานภาวะโภชนาการของ 193 ประเทศทั่วโลก ที่มหาวิทยาลัยมหิดลทำงานร่วมกับคณะทำงานกลุ่ม Independent Expert Group (IEG) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติในสาขาต่างๆ และผู้แทนภายใต้หน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ ทั้งยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก และเอฟเอโอ เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวและความรับผิดชอบจากผู้เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาภาวะทุพโภชนาการในทุกรูปแบบให้หมดไป

เนื่องจากปัจจุบันพบว่า1 ใน 3 ประชากรโลกเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการ ร้อยละ 45 ของประเทศทั่วโลกประสบภาวะทุพโภชนาการซ้ำซ้อน ทั้งโรคขาดสารอาหาร และโรคโภชนาการเกิน

ในส่วนของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีนั้น จำนวน 42 ล้านคนทั่วโลก มีปัญหาผอม และพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 161 ล้านคน ประสบปัญหาแคระแกร็น อีกทั้งพบว่าในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ร้อยละ 45 เสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะทุพโภชนาการ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 2-20 ในการรักษาโรคอ้วน เช่น ประเทศมาลาวีที่ต้องจ่ายงบประมาณในการแก้ปัญหาทุพโภชนาการถึงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ดร.ลอเรนซ์ ฮัดดาด นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า เหตุที่ต้องมีการลงทุนกับโครงการพัฒนาการด้านโภชนาการ เพราะเรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราพบว่ายิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ยิ่งต้องดูแลสุขภาพมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาภาวะโภชนาการขาด คือเตี้ย ภาวะขาดสารอาหาร (ผอม) ภาวะโรคโลหิตจาง รวมทั้งผลักดันการให้นมแม่จนอายุ 6 เดือน ล้วนเป็นเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่พยายามผลักดัน ซึ่งต้องมีผู้นำผลักดันเรื่องนี้ ต้องมีการมองคุณภาพของข้อมูล ต้องมีการทำงานที่ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องของการเกษตรที่ดี การศึกษา ไปจนถึงการพัฒนาชุมชน นี่เป็นรายงานที่พยายามผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

ในส่วนของประเทศในเอเชียนั้น ดูเหมือนจะมีการตั้งความหวังสำหรับประเทศไทย ตอนที่ผมยังเป็นนักศึกษา ผมศึกษาเรื่องโภชนาการโดยมีไทยเป็นต้นแบบ ครั้งนั้น ทุกประเทศต่างหันมามองไทยในฐานะแม่แบบของการดูแลโภชนาการแม่และเด็ก ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาไม่ว่าจากข้อมูลของหน่วยงานไหนมีปัญหาเรื่องอ้วนเพิ่มขึ้น น้ำหนักน้อยเพิ่มขึ้น ภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด เป็นสัญญาณเตือนว่าภารกิจนี้ยังไม่เสร็จสิ้น

ทางด้าน นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าคณะนักวิจัยในการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย อธิบายว่า แง่สุขภาพในเด็ก ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1960 เป็นปัญหาขาดสารอาหาร มาถึงปี 1980 เราแก้ปัญหาได้ แล้วมาสนใจเรื่องน้ำหนักเกิน จะเห็นว่าตอนหลังเราพูดถึงเรื่องน้ำหนักเกินกันมาก ทางยูเอ็นให้มีการสำรวจสุขภาพแบบผสมผสานทั้งในเด็กและแม่ ซึ่งมีการสำรวจตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน โดยใช้มาตรฐานของยูเอ็น ปรากฏว่าสถิติตรงนี้แสดงให้เห็นว่า เรามีภาวะขาดสารอาหารมาก เช่น ภาวะเด็กเตี้ยกว่าอายุที่ควรเทียบตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เราเตี้ยกว่าถึง 16 เซนติเมตร ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจ และภาวะผอม และน้ำหนักน้อย เราจึงไม่ได้ดีขึ้น

ซึ่งพอเราไปสำรวจแล้ว เราต่ำกว่าเขาครึ่งหนึ่ง เช่น ภาวะเตี้ยเราเจอ 7-8% แม้จะไม่ถึง 15% อย่างที่ปรากฏในรายงาน แต่ก็ถือเป็นปัญหาเหมือนกัน

รศ.ดร.พัตธนี วินิจจะกูล นักวิชาการด้านโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิจัยเรื่องขาดอาหารมาตั้งแต่ปี 1980-1990 ให้ความเห็นถึงการไม่ผ่านประเมินของไทยว่า เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะถ้าดูค่าเฉลี่ยความสูงของเด็ก เราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน เปอร์เซ็นต์เด็กที่เตี้ยอยู่ที่ 15-16% มายาวนาน 10-15 ปี คำถามคือ ขาดอะไรในนั้น เพราะตัวเลขที่บ่งชี้ว่า "เตี้ย" ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ไม่ได้ลดลงไปมากๆ เหมือนบางประเทศ ปัญหาของเราคือ เราดีขึ้น แต่ค่าประเมินไม่ได้ลดลง รศ.ดร.พัตธนีบอก และว่า พิจารณาตัวเลขมันแตะขอบๆ ไม่ได้ลงไปแย่ แต่ไม่ได้ก้าวขึ้นมา เราพยายามดูว่าในอาหารมันขาดวิตามินหรือเปล่า จึงคิดว่าถ้าเราหันกลับมาจัดการเรื่องอาหารอีกทีหนึ่ง อย่างเรื่องสแน็ก ซึ่งเมื่อก่อนมันเข้าไม่ถึง เด็กกินข้าวกินผัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำเป็นห่อเล็กๆ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของบริษัทผู้ผลิต แต่เมื่อมีคนต้องการ และขายได้ เขาก็ขาย

สิ่งที่เป็นประเด็นคือ ความรู้ใหม่ๆ มันลงไปไม่ถึง ชาวบ้านอาจจะมีความรู้ทั่วๆ ไปว่า ถ้ากินไม่ถูกก็อ้วน แต่ไม่ทราบว่าจะต้องกินอย่างไร ซึ่งตอนนี้เขารู้แล้วว่าต้องกินอาหาร 5 หมู่ แต่ไม่ทราบว่าแต่ละอย่างควรจะกินแค่ไหน เมื่อก่อนพอเราบอกว่าขาดสารอาหาร อาจจะอาหารไม่พอ ไม่สะอาด

แต่คำว่า "อาหาร" ในยุคเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กับปัจจุบันมันคนละหน้าตาเลย ในชนบทจริงๆ ร้านสะดวกซื้อแบบนี้อาจจะยังไม่ถึง แต่รอบๆ เมือง ชานเมืองคงมี สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ สะดวกซื้อแบบชนบทว่าในนั้นมีอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันชาวบ้านซื้ออาหารกินเยอะ

รายงานโภชนาการโลกปีนี้ไม่ใช่เล่มแรก เป็นการประเมินโดยเปรียบเทียบข้อมูลเมื่อปีก่อนกับปีปัจจุบัน มีการขยับตัวเท่าไหร่ มีความเปลี่ยนแปลงในตัวชี้วัดที่กำหนดเป็นเท่าไหร่ ประเทศไทยจึงเสียเปรียบที่ "เตี้ย" เราขยับน้อยมาก และ "อ้วน" เรายังอยู่ที่ 6-7% ซึ่งเกณฑ์คือจะต้องลงมาให้ต่ำกว่า 5 ประเทศไทยยังอยู่ตรงนั้น คะแนนจึงตก

ถามว่าโภชนาการสัมพันธ์กับไอคิวของเด็กหรือไม่ รศ.ดร.พัตธนียืนยันว่า เกี่ยวข้องแน่นอน "ที่โดดเด่นคือ โปรตีน ไอโอดีน เหล็ก ซึ่งมีการพิสูจน์มาแล้ว แต่สารอาหารอื่นก็สำคัญเพราะมันทำงานร่วมกัน"

เด็กช่วงก่อนคลอด 6 สัปดาห์ การเติบโตของสมองเมื่อเทียบกับทั้งตัวจะเร็วมาก ประมาณ 70-80% ของผู้ใหญ่ การที่เราบอกว่าเด็กเตี้ย จึงสะท้อนถึงการขาดสารอาหาร ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับวิธีการให้อาหาร เช่น การที่แม่ไม่สามารถให้นมลูกตลอดเวลา โดยเฉพาะแม่ที่ฐานะไม่ดี ต้องออกไปทำงาน ทำให้เวลาอยู่กับลูกน้อยลง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การซื้อนมผงให้ลูกกิน ซึ่งเมื่อนมแพงก็ชงจางลง หรือยังไม่ถึงเวลาให้อาหารอย่างอื่นก็ให้แล้ว เด็กยังไม่ถึง 1 เดือน ให้ข้าวบ้าง กล้วยบ้าง ซึ่งไม่กระตุ้นพัฒนาการเด็ก เราจึงพยายามผลักดันการให้นมแม่ใน 6 เดือนแรก

ในส่วนของ "อ้วน" ก็ด้วย ข้อมูลที่ดูจากการติดตามผลใน 5 ประเทศในโลก พบว่าการเลี้ยงดูในช่วง 2-3 ปีแรก มีผลต่อความสูงของเด็กที่ไม่ใช่แค่ช่วงเวลานั้น แต่จะไปกำหนดเมื่อเป็นผู้ใหญ่ด้วย รศ.ดร.พัตธนีบอก และเล่าย้อนถึงความสำคัญของโภชนาการเด็กในช่วง 6 เดือนแรกว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเมื่อครั้งก่อนที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีภาวะทุพโภชนาการในเด็กมาก

"ตอนนั้นเรามีข้อมูลเด็กใน 1 ปีแรก และตามไปวัดผลในเด็กอีกครั้งตอนอายุ 9 ขวบ พบว่าช่วง 6 เดือนแรกผลกระทบต่อระดับสติปัญญามีผลมากที่สุด 6 เดือนที่ 2 ก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่เพื่อไม่ให้ชาวบ้านงง เราก็จะบอกว่าช่วง 1 ปีแรกให้ดูแลให้ดี โดยเราใช้ความสูงของเด็กเป็นตัววัดสติปัญญา"

เมื่อตัวเลขของเด็กเตี้ยฟ้องถึงปัญหาที่ยังคงซุกตัวอยู่ รศ.ดร.พัตธนีว่า การจัดการโภชนาการจำเป็นต้องปรับยุทธวิธี เพราะเวลาเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ระบบการจัดการเปลี่ยน รวมถึงวิถีการกินการอยู่ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

"ประเด็นคือ เราทำงานโภชนาการในยุคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนา และยังยืนยันว่าต่อให้เรามีโครงการแม่และเด็ก มีการให้อาหารเสริม หรืออะไรที่ยังต้องอยู่ในกรอบของการพัฒนา การที่หลายประเทศมองว่าเราเป็นต้นแบบนั้น มีปัจจัยหลายส่วนด้วยกัน คือ 1.การกระตุ้นให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาของตัวเอง 2.แม้ว่าประเทศอื่นจะประสบความสำเร็จในการจัดการด้านโภชนาการในพื้นที่ แต่ไม่สามารถขยายความสำเร็จนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ แต่ประเทศไทยทำได้"

ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องแม่และเด็กเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้นจนน่าตกใจ ทำให้คนหันไปทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ลืมคือ ฐานเรื่องแม่และเด็กซึ่งสำคัญมาก เพราะไม่ได้แก้แค่เรื่องการขาดสารอาหาร งานวิชาการในโลกนี้ให้ความสำคัญกับเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เพราะการทำให้โภชนาการของแม่ดี ลูกในท้องดี เมื่อเกิดมาแล้วเลี้ยงดูดี จะช่วยลดปัญหาของโภชนาการในระยะยาว

ประเทศไทยต้องเพิ่มความรับรู้ว่า การดูแลแม่และเด็กไม่ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเตี้ยเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว แต่มันป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคต่อไปข้างหน้า ที่เราไม่ค่อยได้ทำคือ การเลี้ยงดูเด็กด้วยวิธีการที่เหมาะสม เป็นการสร้างพฤติกรรมที่ดีให้เด็ก

จนถึงวันนี้ ถ้าจะแก้ปัญหาโภชนาการในเด็กไทย คงต้องกลับไปเก็บข้อมูลใหม่อีกรอบ

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

http://www.thaihealth.or.th/