โลหิตจางในเด็ก ปล่อยไว้นานมีผลต่อสติปัญญาของเด็ก แนะหากพบว่าโลหิตจางควรเริ่มรักษาทันที

ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเป็นปัญหาสาธารณสุขไทยมาตลอด ในฐานะโรคทางโลหิตวิทยาที่พบบ่อยที่สุด จากงานวิจัยของกรมอนามัยเมื่อปีที่แล้ว พบว่าเด็กไทยทุก 100 คน จะมีผู้ที่โลหิตจางสูงถึง 30 คน ซ้ำร้ายเด็กที่ขาดธาตุเหล็กและโลหิตจาง เมื่อนำไปทดสอบศักยภาพความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิว พบว่ามีไอคิวที่ต่ำกว่าเด็กที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง นั่นหมายความว่ายิ่งปล่อยให้เด็กอยู่ในภาวะขาดธาตุเหล็กนานๆ โดยไม่รู้ตัวยิ่งมีผลเสียต่อสติปัญญาของเด็ก

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร วิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคเลือดในเด็ก กล่าวว่า ร่างกายคนเรามีธาตุเหล็กอยู่ในเม็ดเลือดแดงในรูปของฮีโมโกลบิน และเก็บสะสมอยู่ที่ตับและม้าม ตั้งแต่ในระยะที่อยู่ในครรภ์มารดา ทารกแรกเกิดมีปริมาณฮีโมโกลบินสูง เมื่อคลอดแล้วทารกจะหยุดสร้างเลือดเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ แล้วจึงเริ่มสร้างเลือดโดยใช้ธาตุเหล็กที่สะสมไว้ตั้งแต่ขณะที่อยู่ในครรภ์

ธาตุเหล็กจะถูกใช้หมดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น ธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่จะไม่เพียงพอ ควรให้ยาเสริมธาตุเหล็กแก่ทารกและให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กสูงเช่นตับและเลือด ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก

สำหรับวิธีการป้องกันภาวะโลหิตจางในเด็ก แนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้พาลูกไปตรวจเลือดเฉพาะค่า "ฮีโมโกลบิน" เมื่ออายุระหว่าง 6-12 เดือน หากพบว่าโลหิตจางแล้วเริ่มรักษาทันที เพราะหากค้นพบช้า อาจทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของสมอง แม้ว่าการเจาะเลือดเด็กอาจจะดูโหดร้ายสำหรับเด็ก แต่ปัจจุบันมีวิธีตรวจที่ง่ายๆ แค่เจาะเลือดปลายนิ้วเพียงหยดเดียวใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาที สามารถรู้คำตอบได้ทันที

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.thaihealth.or.th/