ผู้ป่วยที่มีภาวะเครียดหรือเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่รุนแรงนัก เวลาเกิดอาการซึมเศร้า มักจะมีความคิดหมกมุ่นกับเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือกังวลถึงเรื่องราวร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการมีสติจะช่อยผ่อนคลายภาวะเหล่านี้ได้

 

สำหรับคำว่า "สติ" นั้น คนไทยรู้จักคำว่าสติมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งพอจะสรุปได้เป็นสองแบบคือ สติแบบแรก คือ สติที่ใช้เรียนรู้โลกภายนอก เช่น มีสติในการทำงานไม่ให้ผิดพลาด มีสติในการจำและการทำความเข้าใจ เช่น อ่านหนังสือให้เข้าใจ ใช้สติในการคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีสติในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น การขับรถ ข้ามถนน เป็นต้น 

สติแบบที่สอง เป็นสติที่กลับมาเรียนรู้โลกภายใน คือรับรู้ถึงการมีอยู่ของร่างกาย ความคิด และอารมณ์ และเรียนรู้ว่า ร่างกาย ความคิดและอารมณ์ นั้นเปลี่ยนแปลง และบังคับให้เป็นอย่างใจต้องการไม่ได้ ซึ่งสติอย่างที่สองนี้เอง ที่ชาวต่างชาติได้นำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาและป้องกันภาวะซึมเศร้า และสติอย่างที่สองนี้เองที่เป็นสติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีมานานกว่า 2,500 ปี

สำหรับวิธีการฝึกสติจะเป็นการรับรู้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ เช่น การรับรู้ว่ามีลมหายใจออก ลมหายใจเข้า รับรู้อิริยาบถต่างๆ ของร่างกาย เช่น ร่างกายกำลังยืน ร่างกายกำลังนั่ง ร่างกายกำลังเดิน เป็นต้น รับรู้อารมณ์ที่ปรากฏอยู่เช่น มีอารมณ์เศร้า มีความโกรธ หงุดหงิด ไม่สบายใจ อึดอัด เสียใจ ท้อแท้ เกิดขึ้นในใจ ฯลฯ รวมถึงรับรู้ความคิดที่ปรากฏ แต่ไม่จำเป็นต้องให้ความหมายของความคิด คือไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเรื่องราวที่คิดคืออะไร แต่ให้เห็นว่าความคิดเป็นเพียงความคิด เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง ที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป เป็นต้น

ในผู้ป่วยที่มีภาวะเครียดหรือเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่รุนแรงนัก เวลาเกิดอาการซึมเศร้า มักจะมีความคิดหมกมุ่นกับเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือกังวลถึงเรื่องราวร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วก็จะเกิดอารมณ์เศร้า เสียใจ หรือท้อแท้ขึ้น ในตอนนี้เองที่เราสามารถนำการฝึกสติมาใช้ คือ เมื่อรับรู้ว่ากำลังมีความคิดในแง่ลบเกิดขึ้น หรือรับรู้ว่ากำลังมีอารมณ์เศร้าเกิดขึ้น แทนที่จะจมไปกับความคิดหรืออารมณ์เศร้า ก็เบี่ยงเบนความสนใจมาที่ร่างกายแทน เช่น เมื่อรับรู้ว่ามีความคิดในแง่ร้ายเกิดขึ้น ก็เบี่ยงเบนความสนใจมาที่ลมหายใจ ซึ่งอาจจะหายใจลึกๆ สักสองสามครั้ง หากยังคงมีความคิดร้ายๆ อยู่ ก็อาจจะเปลี่ยนอารมณ์โดยการไปล้างหน้า ไปหาคนคุยด้วย เมื่อสบายใจขึ้นก็มาฝึกซ้อมการมีสติต่อ เช่น มีสติกับการเดิน มีสติในการ หายใจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เมื่อมีกำลังใจ ความเข้าใจและน้ำใจจากคนรอบตัวและคนในสังคมเป็นพลังให้เขาสามารถกลับมายืนในสังคมได้อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่ง

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะเห็นพ้องว่า วิทยาศาสตร์ด้านจิตวิทยาและจิตเวช ดูละม้ายคล้ายคลึงกับคำสอนและการฝึกปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องท้าทายชวนให้คิดต่อไปด้วยว่า หลายๆ ท่านที่หยั่งรู้ หยั่งทราบด้วยตนเองว่ามี "จิตไม่สงบ" รักง่าย โกรธง่ายและรุนแรง มีความทะยานอยากได้อยากมีไปเสียทุกอย่างไม่รู้จบ จึงนิยมไปฝึกสมาธิ ใช้สติสยบความ"รัก-โลภ-โกรธ-จนเกินเหตุ" ก่อให้เกิดความสุขทั้งทางกายและทางใจ ไม่สามารถคืบคลานเข้าไปสู่โรคซึมเศร้าได้

ท่านสามารถมีส่วนช่วยตัวท่านเองและคนรอบตัวในการพิชิตโรคซึมเศร้าได้นะครับ ขอเพียงอดทนอย่าพ่ายแพ้ต่อโรค ปรับวิธีคิดบวกหรือขอความช่วยเหลือจากแพทย์ใกล้บ้านท่านแต่เนิ่นๆ นะครับ อย่าลืม

"โรคซึมเศร้า...หายได้...ถ้าใส่ใจรักษา"

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์

http://www.thaihealth.or.th/