วัยทองอย่าท้อ

 

 

วัยทอง เป็นวัยที่รังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการตกไข่ ไม่มีการผลิตฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อไม่มีการตกไข่ก็ไม่มีประจำเดือน วัยทองจึงหมายถึง “วัยหมดประจำเดือน” หรือ “วัยหมดระดู” นั่นเอง ผู้หญิงแต่ละคนจะเข้าสู่วัยทองในอายุที่ต่างกัน แต่พอจะทราบได้ว่าใกล้เข้าสู่วัยทองแล้วหรือยัง โดยสังเกตจากการมาของประจำเดือน เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่จะเริ่มไม่คงที่ ทำให้ประจำเดือนมาเร็วบ้างช้าบ้าง จนไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะมาในช่วงใดของเดือน จนถึงช่วงอายุหนึ่งประจำเดือนจะขาดหายไปเลย ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่วัยทอง โดยปกติผู้หญิงไทยจะเริ่มเข้าสู่วัยทองเมื่ออายุประมาณ 45-50 ปี ฮอร์โมนเพศหญิงที่ขาดหายไป ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ได้รับเกียติจาก ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้คำแนะนำถึงการเตรียมความพร้อม และการดูแลตนเองเมื่อเข้าสู่วัยทอง เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตในช่วงวัยทอง ได้อย่างราบรื่นและมีความสุข

 

 

ผู้หญิงเป็นเพศที่ไวต่อการแกว่งของฮอร์โมน หากสังเกตให้ดีจะพบว่าผู้หญิงจะมีช่วงที่อารมณ์ไม่ปกติอยู่ 5 ช่วง ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนทั้งสิ้น ได้แก่

 

1.ช่วงเข้าสู่วัยรุ่น เป็นช่วงที่รังไข่เริ่มผลิตฮอร์โมน ระดับของฮอร์โมนจึงยังไม่ค่อยคงที่ ขึ้นๆ ลงๆ ส่งผลให้อารมณ์ไม่นิ่ง ไม่ค่อยมีเหตุผล หงุดหงิดง่าย ตอบสนองต่อความไม่พอใจที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง เป็นต้น แต่เมื่อฮอร์โมนเริ่มคงที่ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น

 

 

2.ช่วงเริ่มตั้งครรภ์ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนจะพุ่งสูงขึ้นมาก จึงเป็นที่มาว่า ทำไมคนท้องจึงอ่อนไหวง่าย ขี้ใจน้อย

 

 

3.ช่วงหลังคลอด เป็นช่วงที่ฮอร์โมนตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงรู้สึกเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกอยากร้องไห้ อยากตายทั้งที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวดีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คู่ครอง หรือฐานะทางบ้าน อาการคล้ายคนจิตตก

 

 

4.ช่วงใกล้มีประจำเดือน สังเกตได้ว่าผู้หญิงบางคนก่อนหน้ามีประจำเดือน 4-5 วัน อารมณ์จะไม่คงที่ ความอดทนต่ำกว่าปกติ นอนไม่ค่อยหลับ ตัวบวม แต่พอประจำเดือนมา อาการต่างๆ เหล่านี้จะหายไป

 

 

5.ช่วงเข้าสู่วัยทอง ซึ่งระดับฮอร์โมนที่ลดลงทำให้เกิดอาการได้หลายอย่าง โดยแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มอาการ คือ

 

• อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่ออกกลางคืน ใจสั่น คลื่นไส้ วิงเวียน นอนไม่หลับ บางรายทั้งที่ทำงานในห้องแอร์ แต่กลับร้อนจนเหงื่อชุ่มโชก หรือหากอาการร้อนวูบวาบเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ก็จะรบกวนการนอน ทำให้นอนหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ เกิดอาการทางจิตประสาทตามมาได้

 

 

• อาการทางจิตและอารมณ์ เช่น กระวนกระวาย อารมณ์อ่อนไหว หงุดหงิดง่าย มองโลกแง่ร้าย ไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ ซึมเศร้า เป็นต้น

 

 

• อาการทางระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เมื่อรังไข่หยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนจะส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง ในรายที่เป็นมากจะรู้สึกเจ็บ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทำให้หมดความสนใจเรื่องทางเพศ นอกจากนี้ยังมีอาการปัสสาวะแสบขัด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและช่องคลอดได้ง่าย

 

 

• อาการไม่จำเพาะอื่นๆ เช่น ตาแห้ง ผิวแห้ง ชาปลายมือปลายเท้า ปวดตามตัว บางคนรู้สึกคันยุบยิบ เหมือนมีแมลงไต่ตามตัว เป็นต้น

 

 

ผู้ที่มีอาการวัยทองจำเป็นต้องมาพบแพทย์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า อาการที่เกิดขึ้นสร้างความเดือดร้อน หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ หากมรู้สึกว่าเป็นปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ จากสถิติพบว่าผู้หญิงไทยที่มีอาการวัยทองในระดับรุนแรง จนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10-15% ส่วนที่เหลือ 70-80% มีอาการเพียงเล็กน้อย สำหรับแนวทางการดูแลรักษาสตรีวัยทองขึ้นอยู่กับอาการและปัญหาในแต่ละราย

 

 

ส่วนใหญ่อาการวัยทองจะเกิดขึ้นนานประมาณ 6 เดือน – 3 ปี แต่ก็มีบางรายมีอาการถึง 10 ปี แต่พบได้น้อย ในขณะที่บางคนสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ โดยไม่มีอาการใดๆ เลยก็มี ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการวัยทองที่เกิดขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับของฮอร์โมนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ลักษณะนิสัยและทัศนคติการมองโลก ก็มีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะอาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ โดยพบว่าผู้หญิงกลุ่มที่มั่นใจในตัวเองสูง ประเภทยอมหักไม่ยอมงอ จะมีปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ค่อนข้างมาก เมื่อเข้าสู่วัยทอง หากสามารถปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ เรียนรู้ที่จะผ่อนคลายปล่อยวางได้ อาการก็จะดีขึ้นตามลำดับจนไม่ต้องใช้ยาในที่สุด ในรายที่มีอาการเล็กๆ น้อยๆ แนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง เช่น อาการร้อนวูบวาบจะเป็นมากขึ้นในช่วงหน้าร้อน ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่บางเบาใส่สบาย หรืออยู่ในห้องแอร์ รวมทั้งงดอาหารรสจัด ลดกาแฟและบุหรี่ เป็นต้น

 

 

การรักษาอาการวัยทองในรายที่มีอาการมากประกอบด้วยการรักษาด้วยยา หรือฮอร์โมนทดแทน เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนในเลือดไม่ให้แกว่งมากเกินไป ช่วยให้สภาพจิตใจและอารมณ์มั่นคงขึ้น เมื่อสามารถควบคุมอาการได้ในระดับหนึ่งแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การจัดการความเครียด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้อาการวัยทองเป็นมากขึ้น วิธีจัดการความเครียดที่แนะนำคือ การออกกำลังกายที่ส่งผลดีทั้งด้านจิตใจและร่างกาย เช่น ชี่กง ไทชิ โยคะ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ต้องจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหว ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน โดยฝึกร่วมกับการฝึกปฏิบัติทางจิต ได้แก่ การฝึกสมาธิวิปัสสนา ซึ่งจะช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ปล่อยใจให้ไหลไปตามอารมณ์ด้านลบ รู้จักปล่อยวาง รับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น

 

 

ข้อมูลที่ควรเตรียมให้พร้อมก่อนมาพบแพทย์มีอะไรบ้าง

 

การจะรักษาผู้ป่วยหนึ่งคน ไม่ใช่เพียงแค่สนทนากันเพียง 3-4 ประโยคแล้วสั่งยา แต่มีความจำเป็นอย่างมากที่แพทย์จะต้องรู้ข้อมูลของผู้ป่วยทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และจิตใจให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยแต่ละราย เพราะการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นเหมือนช่างตัดเสื้อที่ต้องให้พอดีตัว ข้อมูลที่ผู้ป่วยควรเตรียมให้พร้อมก่อนมารับการรักษา ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส จำนวนบุตร อายุบุตร ประวัติการคุมกำเนิด ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไร มาปกติหรือผิดปกติ ประวัติโรคประจำตัวและการรักษา ประวัติการใช้ยา ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เคยแพ้ยาอะไรบ้าง ประวัติการผ่าตัด ประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว หรือมีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ รวมทั้งประวัติส่วนตัวอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หากมีผลการตรวจร่างกายครั้งหลังสุด ให้นำติดตัวมาด้วย ข้อมูลเหล่านี้คือจิ๊กซอว์สำคัญที่แพทย์จะต้องนำมาต่อให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มองภาพได้ใกล้เคียงมากที่สุด ถ้าได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง การรักษาก็จะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อมูลอะไรมาเลย แพทย์ก็จำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์ในหลายส่วน ขั้นตอนและเวลาในการรักษาจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

 

คำถามหรือข้อกังวลใจที่พบบ่อยในคนวัยทอง

 

• วัยทองกับวิตามินเสริม เป็นคำถามที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ จากคนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งคนวัยทอง หากจะพูดถึงวิตามินเสริม ต้องขอย้อนกลับไปสมัยที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกา ในสมัยนั้น ผู้คนนิยมเดินทางโดยเรือเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ คนจำนวนมากเสียชีวิตระหว่างทาง เนื่องจากขาดวิตามินซี เพราะในทะเลมีแต่ปลา ไม่มีพืชผักผลไม้ โคลัมบัสจับสังเกตตรงจุดนี้ได้ และรู้ว่าต้องรับประทานผักผลไม้ ต้องมีส้ม มีผลไม้รสเปรี้ยว จึงขนผลไม้เหล่านี้ติดตัวลงเรือไปด้วย จึงสามารถใช้ชีวิตอยู่กลางทะเล จนค้นพบทวีปอเมริกา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้ว่า วิตามินมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก

 

 

จากนั้นได้มีการศึกษาค้นคว้ากันเรื่อยมา จนมีข้อมูลว่า เราควรได้รับวิตามินชนิดต่างๆ ปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามวิตามินและเกลือแร่ก็เปรียบเสมือนปุ๋ยใส่ต้นไม้ ถ้าให้เยอะเกินไปต้นไม้ก็ตาย อะไรที่มากเกินไปล้วนส่งผลเสียแทบทั้งนั้น ถ้าถามว่า วิตามินอาหารเสริมดีไหม จำเป็นแค่ไหน คงต้องตอบว่า “ดีที่สุดคืออาหารจากธรรมชาติ” ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “อยากอายุยืนให้กินของอายุสั้น อยากอายุสั้นให้กินของอายุยืน” หลักการมีอยู่เท่านี้ ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ได้จริงในสังคมเกษตรสมัยก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตู้เย็นแช่อาหาร แต่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน ทำให้เราไมมีเวลาดูแลตนเอง เกิดเป็นประเด็นว่าร่างกายของเราจะขาดสารอาหารหรือเปล่า

 

 

ต้องกินวิตามินอาหารเสริมอะไรเพิ่มเติมไหม แพทย์อย่างผมมักจะแนะนำให้ กินบ้างลืมบ้าง ไม่แนะนำให้กินไปเรื่อยๆ เพราะจะมีวิตามิน 4 ชนิดที่ละลายในไขมัน คือ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ที่หากสะสมในร่างกายปริมาณมาก จะก่อให้เกิดพิษได้ ถ้าเป็นไปได้ก็ให้กินของอายุสั้น คือ พวกอาหารสด ผักผลไม้ดีที่สุด

 

 

• การใช้ฮอร์โมนทดแทนในการรักษาอาการวัยทอง เรื่องนี้เป็นข้อกังวลใจอันดับต้นๆ ของผู้หญิงวัยทอง เนื่องจากมีผลงานวิจัยออกมาว่าการใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม ทำให้คนตื่นกลัว ไม่กล้าใช้

 

 

ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเข้าสู่วัยทองก่อนอายุ 60 ปี และแพทย์ไม่ได้ให้ใช้ฮอร์โมนทดแทนไปตลอดชีวิต แต่จะให้ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ถ้าอาการดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถปรับทัศนคติ มีจิตใจที่มั่นคง รู้เท่าทันอารมณ์ จนสามารถรับมือกับอาการวัยทองได้ แพทย์ก็จะค่อยๆ ปรับขนาดยาลงจนไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีกต่อไป

 

 

หากเปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพ ยาก็เหมือนกับไฟฟ้าที่บ้าน ถ้าไฟช็อตเราก็ตาย ถ้าอย่างนั้นเราต้องเลิกใช้ไฟฟ้าหรือเปล่า คำตอบคือ “ไม่” ยาก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่เราต้องรู้วิธีใช้ ใช้อย่างพอดี เพราะถ้าไม่ใช้เลยก็จะเสียประโยชน์ ที่สำคัญต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า “ยาใช้สำหรับรักษาโรค ไม่ได้ใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ” ดังนั้นอย่าใช้เกินจำเป็น

 

 

เมื่อรู้เหตุและปัญหาของวัยทองแล้ว เราก็ควรที่จะเตรียมภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับมือ กับวัยทองที่จะต้องมาถึงในสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน การฝึกจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจิตใจที่มั่นคงจะช่วยลดปัญหาสภาพจิตใจแปรปรวนได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องรอจนวัยทองมาเยือน เตรียมพร้อมกันตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

 

ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย