ข่าวเรื่องการทำร้ายตนเอง-ฆ่าตัวตาย มีความชุกเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเดือน มกราคม 2559 นี้ จะด้วยสาเหตุใดๆ ที่กล่าวไว้ในบทความนี้ก็ตาม เพียงแต่ว่าหากทุกท่านได้เข้ารับการรักษาในระยะเริ่มแรกแล้ว ท่านเหล่านั้นก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุขอีกนานแสนนาน สร้างคุณค่าของชีวิตให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคมแวดล้อมได้อีกมากมาย

ทำไม..เหตุใด..จะต้องเข้ารับการรักษาเพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้ป่วยในกลุ่ม "โรคซึมเศร้า"

องค์การอนามัยโลกวิเคราะห์ว่าในปี 2563 โรคซึมเศร้าจะทำให้เกิดการสูญเสียด้านสุขภาพแก่คนทั่วโลกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนการศึกษาในประเทศไทยปี 2552 พบว่าโรคซึมเศร้าก่อให้เกิดความสูญเสียจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพสูงที่สุดในเพศหญิงถึงร้อยละ 12.4 ซึ่งสูงกว่าโรคทางกายทุกโรคและยังมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนอีกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่าซึ่งในประเทศไทยพบว่า ไม่เพียงเกิดกรณีการฆ่าตัวตายเท่านั้น แต่อาจเป็นภัยกับครอบครัวและคนใกล้ชิดโดยเฉพาะบุตรดังที่เคยเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ และในการศึกษาผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จพบว่า ร้อยละ 90 มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะกระทำการและส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั่นเองครับ

อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้ามี 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญคือ

1. ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ซึ่งเป็นผลจากการผิดปกติของยีน (Gene)

2. ปัจจัยด้านจิตใจ

3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

โดยส่วนใหญ่มักพบร่วมกันโดยมีปัจจัยกระตุ้น เช่นการสูญเสียเป็นตัวนำไปสู่ความไม่สมดุลของการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยในที่สุด ซึ่งสารสื่อประสาทที่ว่านี้คือ ซีโรโทนิน (Serotonin)ที่มีค่าต่ำกว่าปกติ

โรคซึมเศร้ามีจริงๆ หรือเป็นแค่อารมณ์เศร้าธรรมดาๆ ที่ใครๆ ก็เป็น

คนทั่วไปสามารถเกิดอารมณ์หรือภาวะซึมเศร้าได้เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น ความเครียด แต่อาการจะไม่รุนแรงและหายไปได้เอง แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นจะส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ดังนั้นอาการจะรุนแรงและก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินชีวิตมากกว่าอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นโรคซึมเศร้าจึง ไม่ใช่เพียงภาวะจิตใจที่อ่อนแอหรือไม่สู้ปัญหาเท่านั้น แต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วมีผลต่อสมอง ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายเช่นเดียวกับโรคในร่างกายของเราอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากครอบครัวสูญเสียคนในครอบครัวอันเป็นที่รัก บุคคลธรรมดาที่ไม่ป่วยก็จะเศร้าโศกอยู่ 2-3 อาทิตย์ หรือ 1-2 เดือนเป็นอย่างมาก แต่ผู้ที่มีความผิดปกติของยีนส์สมองและสื่อประสาทเข้าสู่โรคซึมเศร้า จะแสดงออกโดยเศร้าซึมจนผิดสังเกต แยกตัว พฤติกรรมต่างๆ ที่เคยทำตามปกติเสียไป และอาจมีแนวโน้มฆ่าตัวตายตาม เป็นต้น ดังนั้นญาติสนิทใกล้ชิดต้องสังเกตอาการและชี้ชวนให้พบแพทย์เพื่อรีบรักษา

เป็นความจริงอีกประการหนึ่งคือ ผู้ที่มียีนส์ไม่สมบูรณ์มีแนวโน้มเข้าสู่อาการซึมเศร้าได้ง่ายแต่ก็ ไม่จำเป็น เน้นว่าไม่จำเป็น จะต้องเป็นโรคซึมเศร้าทุกรายไปครับ ถ้าครอบครัวดี เพื่อนดี สิ่งแวดล้อมดี ก็ชวนพากันดำเนินชีวิตไปตามปกติได้

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดยน.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์

http://www.thaihealth.or.th/