ประจำเดือนหรือที่หลายคนเรียกกันว่า เลือดระดู เป็นเลือดปกติที่ออกจากโพรงมดลูก เนื่องจากมีการลอกหลุดของเยี่อบุมดลูกตามธรรมชาติ ตลอดระยะเวลาที่รังไข่มีความเจริญพันธุ์และมีไข่สุก คือเริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 10-18 ปี จนถึงอายุประมาณ 45-55 ปี และจะเกิดประจำเดือนขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งหลายคนมีความคิดที่ว่าประจำเดือนเป็นเรื่องที่น่าอาย น่าสะอิดสะเอียน และสกปรก ทำให้ไม่กล้าที่จะถามเกี่ยวกับเรื่องน่าสงสัยของประจำเดือน จึงทำให้หลายคนมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับประจำเดือน เช่น

อาการปวดประจำเดือนเหมือนอาการปวดทั่วไป

เช่น อาการปวดศีรษะ หรืออาการปวดจากการเดินชนมุมโต๊ะ แต่ที่จริงแล้วอาการปวดประจำเดือนจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าอาการปวดทั่วไป บางรายถึงขั้นเป็นลม หรือนอนซม นับเป็นอาการปวดประจำเดือนที่มีต้นเหตุมาจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หากปล่อยทิ้งเอาไว้ อาจจะทำให้โรคทวีความรุนแรงมมากขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

ประจำเดือนมักจะมาตรงเวลา

ช่วงของการมีประจำเดือนกับรอบเดือน ไม่ใช่เรื่องเดียวกันคือ การมีประจำเดือนหมายถึงมีเลือดออกจากโพรงมดลูก และรอบเดือนหมายถึงช่วงเวลาทั้งหมดตั้งแต่การเริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงครั้งต่อไป โดยค่าเฉลี่ยรอบเดือนของผู้หญิงจะเท่ากับ 28 วัน บางรายอาจมีรอบเดือนยาวกว่า (29-35 วัน) หรือสั้นกว่า ขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์และแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น การเดินทาง, การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว, อารมณ์, การออกกำลังกาย, มีปัญหาสุขภาพ, และการใช้ยาบางชนิดก็ส่งผลต่อประจำเดือนได้เช่นกัน

อารมณ์ไม่เกี่ยวกับประจำเดือน

ในช่วงก่อนที่ประจำเดือนจะมาประมาณ 1-2 อาทิตย์ ผู้หญิงมักจะมีอาการ PMS (Premenstrual syndrome) เป็นอาการทางกาย พฤติกรรม และอารมณ์ โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ในช่วงระหว่างการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน ซึ่งจะมีอาการทางด้านอารมณ์ และอาการทางด้านร่างกาย ได้แก่ หงุดหงิด, โกรธง่าย, วิตกกังวล, อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย, เหนื่อยง่าย, อ่อนล้า, ท้องเสียหรือท้องผูก และนอนไม่หลับ เป็นต้น

ซึ่งอาการ PMS เป็นอาการที่จัดอยู่ในระดับไม่รุนแรงถึงรุนแรงทั่วไป โดยทั่วไปจะไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน แต่บางรายอาจมีอาการขั้นรุนแรง ที่เรียกว่า PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) จะมีอาการนอนไม่หลับ, แน่นท้อง, ปวดข้อ, ปวดศีรษะ, เจ็บเต้านม, อ่อนเพลีย, ไม่มีสมาธิ, ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้, ซึมเศร้า หมดหวัง คิดทำร้ายตัวเอง, วิตกกังวลและเครียด, ไม่สนใจชีวิตประจำวันและไม่สนใจคนรอบข้าง, วิตกกังวลและเครียด หากพบว่ามีอาการดังกล่าวที่กล่าวมาอย่างน้อย 5 อย่าง นั่นหมายความว่า มีโอกาสเป็น PMDD ซึ่งจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับประจำเดือนอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความเชื่อผิดๆ อาจส่งผลทำให้เราปล่อยปละละเลยบางอาการ จนนำไปสู่โรคร้ายแรงได้ในอนาคต