กลิ่นตัว เป็นสิ่งหนึ่งที่กล้าการันตีได้เลยว่า ไม่มีใครอยากมีแน่นอนค่ะ เพราะนอกจากกลิ่นตัวของเราจะไปรบกวนคนอื่นแล้ว ยังทำให้เราหมดความมั่นใจอีกด้วย วันนี้เดี๋ยวจะพามาดูกันว่าเราจะสามารถรักษากลิ่นตัวของเรา ได้อย่างไร?

กลิ่นตัวเกิดจากอะไร

กลิ่นตัวเกิดจากสารที่สร้างมาจากต่อมกลิ่น (apocrine gland) ซึ่งพบมากที่บริเวณรักแร้และหัวหน่าว ต่อมกลิ่นพบได้ตั้งแต่เกิดแต่จะเริ่มทำงานในช่วงวัยรุ่น มีหน้าที่ในการสร้างกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะทางเพศแบบหนึ่ง สารที่หลั่งจากต่อมกลิ่นประกอบด้วย กรดไขมันหลายชนิด (fatty acid, sulfanyl alkanols และ steroid ) มีลักษณะเหลวข้นไม่มีกลิ่น เมื่อหลั่งออกมาด้านนอกของผิวหนังสารดังกล่าวจะถูกเชื้อแบคทีเรีย (Corynebacteria spp.) เปลี่ยนให้เป็นสารที่มีกลิ่น ซึ่งคือแอมโมเนียและกรดไขมันสายสั้น

กลิ่นตัวจะมาจากต่อมกลิ่น ต่างกับเหงื่อที่มาจากต่อมเหงื่อ กลิ่นตัวอาจมาร่วมกับภาวะเหงื่อออกมากหรือไม่ก็ได้ โดยปกติเหงื่อที่หลั่งมาจากต่อมเหงื่อจะไม่มีกลิ่น บางภาวะอาจทำให้เหงื่อมีกลิ่นได้ เช่น รับประทานกระเทียม แกง หรือยาบางชนิด

การรักษาและป้องกันการมีกลิ่นตัว

1. รักษาสุขอนามัยให้สะอาด ล้างบริเวณรักแร้ ด้วยน้ำสะอาดบ่อยๆ จะช่วยลดปริมาณสารก่อกลิ่นที่หลั่งจากต่อมกลิ่นได้

2. หลีกเลี่ยงภาวะที่ร้อนจัด ภาวะอบอับชื้นฃ

3. ใช้ยาระงับกลิ่นกาย (deodorants) ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น สารลดเหงื่อ สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สารลดกลิ่นที่สร้างขึ้น และน้ำหอมจะช่วยลดกลิ่นตัวได้

4. ใช้ยาระงับเหงื่อ (antiperspirants) ส่วนมากจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อลูมิเนียมคลอไรด์ (aluminium chloride) ซึ่งจะไปอุดท่อต่อมเหงื่อ ลดการหลั่งเหงื่อ ทำให้ผิวหนังแห้งและแบคทีเรียที่ก่อกลิ่นตัวเติบโตไม่ดี สามารถช่วยลดกลิ่นตัวได้

5. ใช้น้ำหอมฉีดพ่น เพี่อกลบกลิ่นตัว แต่ต้องระวังการผื่นแพ้น้ำหอมที่อาจเกิดได้

6. โกนขนบริเวณรักแร้ เพื่อป้องกันแบคทีเรีย และการสะสมของสารก่อกลิ่น

7. ใช้สบู่ฆ่าเชื้อ เพื่อลดแบคทีเรีย แต่ไม่ควรล้างบ่อย เพราะอาจเกิดการระคายเคือง

8. ฉีดโบท๊อก เพื่อลดการสร้างสารก่อกลิ่น

9. ผ่าตัดเอาต่อมกลิ่นออก เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี แต่อาจมีผลข้างเคียงหลังการรักษา เช่น มีแผลเป็น การติดเชื้อ เป็นต้น

ที่มา : ผศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล