มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ว่าจะสังคมเล็กหรือใหญ่ ทุกๆ สังคมล้วนแต่เต็มไปด้วยผู้คนหลากเพศ หลายวัยคละเคล้ากันไป ภายในบ้านก็มีพ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ทำงานก็เจอพี่ๆ (ที่อาจรุ่นราวคราวเดียวกับคุณพ่อคุณแม่) หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ทุกๆ ที่ล้วนเป็นสังคมที่มนุษย์ทุกวุฒิ ทุกวัย ล้วนเพิ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

แต่ด้วยช่วงอายุที่แตกต่าง ประสบการณ์ที่ได้รับมาไม่เหมือนกัน รสนิยมความชอบ มุมมองของการใช้ชีวิต ทำให้หลายๆ ครั้ง ที่อาจเรียกได้ว่า “วัย” นั้น กลับกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พ่อแม่มักว่ากล่าวลูกที่มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเครื่องมือสื่อสาร ลูกมองพ่อแม่ว่าโบราณไม่เข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปู่ย่าตายายไม่ชอบให้ลูกหลานแต่งกายนุ่งน้อยห่มน้อย ลูกหลานเบื่อหน่ายเถียงปู่ย่าตายายว่าไม่เท่าทันยุค ไม่เข้าใจแฟชั่น

ด้วยแนวคิดที่แตกต่าง การมองโลกคนละมุม ทำให้หลายๆ ครั้งเกิดการขัดแย้งบานปลาย จะดีกว่าไหม? ถ้าคนทุกวัยลองหันหน้าเข้าหากัน ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันเสียใหม่ เริ่มจาก

เคารพในสิทธิเสรีภาพ แต่เสรีภาพที่ว่านี้จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือแม้กระทั่งตนเอง เช่น ชอบฟังเพลงป็อบร็อก ก็เบาเสียงลงมานิด จะได้ไม่ไปสะเทือนตับ ไต ไส้ พุง ของผู้ใหญ่ หรือหลีกเลี่ยงการนุ่งน้อยห่มน้อย สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะลดความบาดหมางระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังป้องกันการกระทำมิดีมิร้ายจากผู้ไม่หวังดีได้อีกด้วย

เอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองพิจารณาถึงเหตุผลว่าทำไมคนอีกวัยถึงทำอย่างนั้น เช่น เด็กๆ เล่น Facebook มันอาจจะมีอะไรสนุกก็ได้ หรือ การที่เราอยู่กับ Facebook นานๆ นั้น จะทำให้พ่อแม่ของเราคิดมากไปไหมนะ? อาจรู้จักตั้งคำถาม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุด ในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งถือเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างความรัก ความผูกพันให้เกิดขึ้น

สุดท้าย ปล่อยวาง เรื่องบางเรื่องเราก็มักคิดไปเอง เช่น เด็กๆ กลับดึกอาจจะไปหนีเที่ยว ที่พ่อแม่ทำโทษเพราะพวกเขาไม่รัก เรื่องหลายๆ เรื่องจึงควรปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ รู้จักวางใจ เข้าใจ และมั่นใจ อาจชี้แนะได้ในบางครั้ง แต่อย่าผูกมัด เพราะคนแต่ละช่วงวัยย่อมมีวิธีการมองโลก และการแก้ไขปัญหาไม่เหมือนกัน จึงต้องอาศัยการวางใจเป็นกลาง พูดคุยกันอย่างเปิดอก และยอมรับในการกระทำของคนต่างวัย ง่ายๆ แค่นี้ เราก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขแล้วละครับ