“ชอบกินรสหวาน แต่น้ำตาลในเลือดก็สูงปร๊ด”

“ชอบกินรสหวาน แต่ก็อยากลดความอ้วน”

 

เพราะความหวานเป็นรสชาติที่หลายคนขาดไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันความหวานก็เป็นศัตรูตัวร้ายที่คอยทำลายสุขภาพ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดจึงหันมาสนใจใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติ แทนสารสังเคราะห์มากขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่า “หญ้าหวาน” สมุนไพรรสชาติหวานเจี๊ยบสมดังชื่อ แถมเปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ ก็กำลังกลายเป็นทางเลือกยอดฮิตของคนรักสุขภาพเช่นกัน

 

หญ้าหวานของดีตั้งแต่ครั้งโบราณ

หญ้าหวานจัดเป็นพืชล้มลุกระยะยาว มีลักษณะคล้ายต้นกะเพราหรือต้นแมงลัก ลำต้นกลมและแข็ง มีใบเดี่ยวรูปหอก ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ใบให้สารที่มีรสหวาน และมีช่อดอกสีขาว โดย อาจารย์ ดร.ณัฐิรา อ่อนน้อม ฝ่ายวิทยาศาสตร์การอาหารสถานบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงที่มาของหญ้าหวานให้ฟังว่า

 

“หญ้าหวานเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัย ซึ่งนิยมใช้ผสมกับชาเพื่อดื่มกันมานานแล้ว ส่วนชาวญี่ปุ่นเองก็กินหญ้าหวานกันอย่างแพร่หลาย โดยใช้หมักเป็นผักดอง หรือทำเต้าเจี้ยว”

 

“สำหรับในประเทศไทยนั้น เริ่มมีการนำหญ้าหวานมาใช้กันเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยนิยมนำไปตากแห้ง ชงผสมกับเครื่องดื่มแทนน้ำตาล”

 

หวานธรรมชาติ เปี่ยมคุณประโยชน์

รูปแบบของหญ้าหวานที่นิยมกินมี 2 แบบด้วยกัน คือ นำใบหญ้าหวานมาผสมกับชาสมุนไพรต่างๆ เพื่อเติมรสหวาน หรือสารสกัดจากหญ้าหวานเป็นผงสำเร็จรูปบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหารต่างๆ ทั้งนี้อาจารย์ ดร.ณัฐิรา ได้อธิบายถึงคุณประโยชน์ของหญ้าหวานว่า

 

“ใบหญ้าหวานจะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 10-20 เท่า ส่วนสารสกัดบริสุทธิ์จากหญ้าหวาน หรือที่เรียกว่า สารสตีวิโอไซด์ (Stevioside) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200-300 เท่า โดยไม่ให้พลังงาน (0 แคลอรี) จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และผู้ที่ต้องลดน้ำหนัก แถมยังช่วยบำรุงตับอ่อน ลดไขมันในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้

 

“นอกจากนี้สารสกัดจากหญ้าหวานยังไม่ทำให้ฟันผุ ทั้งมีความทนทานต่อกรดและความร้อน เมื่อใช้ผสมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ต้องผ่านความร้อนสูง จึงไม่กลายเป็นสีน้ำตาล ทำให้สารสกัดจากหญ้าหวานถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหาร หรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น เบเกอรี่ ลูกอม หรือแม้แต่น้ำอัดลม”

 

หญ้าหวานก่อมะเร็ง เป็นหมันจริงหรือ

แม้ไม่นานมานี้จะมีการรายงานว่า มีชาวปารากวัยที่กินหญ้าหวานแล้วกลายเป็นหมัน หรือจำนวนอสุจิลดน้อยลงก็ตาม แต่จากข้อมูลของ สถาบันการแพทย์แผนไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลวิจัยจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่าการใช้หญ้าหวานไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบ หรือผลข้างเคียงแต่อย่างใด เพราะหลังจากทดลองกับหนูทดลองถึง 3 ชั่วอายุ ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์หรือกลายเป็นหมัน

 

“หญ้าหวานสามารถกินได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้ในแต่ละวันไม่ควรกินเกิน 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่อย่าลืมว่าหญ้าหวานมีรสขมเล็กน้อย ดังนั้น จึงควรระวังเวลานำไปใช้ เพราะอาจทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยนแปลงได้”

 

“ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยกินหญ้าหวาน อาจจะค่อยๆ เริ่มกินเพื่อปรับตัวให้ชินกับรสชาติหวานที่มีรสขมติดปลายลิ้นด้วยเล็กน้อยค่ะ” อาจารย์ ดร.ณัฐิรากล่าว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของเหล่านักวิจัยที่ได้ร่วมกันทบทวนผลงานวิจัยถึงคุณประโยชน์และโทษเกี่ยวกับหญ้าหวาน โดยสถานบันการแพทย์แผนไทยว่า

 

“หญ้าหวานไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงาน นักวิชาการจึงสนใจประเด็นสารสกัดสตีวิโอไซด์ว่า มีพิษหรือไม่ และควรกินเท่าใดจึงจะปลอดภัย ซึ่งได้คำตอบว่า สตีวิโอไซด์ปลอดภัยในทุกกรณี และค่าสูงสุดที่กินได้คือถึง 7,938 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก เพราะในความเป็นจริงมีผู้บริโภคได้แค่ 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเท่านั้น ก็หวานมากเกินไปแล้ว”

 

เรียกว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนรักสุขภาพค่ะ

 

 

อาจารย์ ดร.ณัฐิรา อ่อนน้อม

ฝ่ายวิทยาศาสตร์การอาหารสถานบันโภชนาการ

มหาวิทยาลัยมหิดล