ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ศึกษาวิจัยผลการนอนโดยอาศัยการเก็บข้อมูลและตรวจวัดผลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งหมด 48 คน ในโครงการศึกษาวิจัยที่กินเวลานาน 2 สัปดาห์

 

พบว่าผู้ที่นอนไม่เพียงพอหรือมีอาการอดนอนสะสมนั้น มีผลกระทบทางลบต่อร่างกายมากพอๆ กันกับผู้ที่ไม่ได้นอนเลย แต่อาจอันตรายยิ่งกว่า เนื่องจากผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพอนั้นไม่รู้ตัวว่าเกิดผลเสียต่อร่างกายตัวเอง

ในงานวิจัยดังกล่าว ทีมวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่มควบคุม กลุ่มแรกกำหนดให้นอนหลับอย่างพอเพียงคืนละ 8 ชั่วโมง กลุ่มที่สองให้นอนหลับได้เพียง 6 ชั่วโมง กลุ่มที่สาม 4 ชั่วโมง และกลุ่มสุดท้ายไม่ให้นอนเลยเป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้น ผู้ที่เข้าร่วมในการวิจัยทุกคนต้องผ่านการทดสอบด้านต่างๆ อาทิ การวัดปฏิกิริยาตอบสนอง, การตรวจวัดรูปแบบของคลื่นสมอง รวมไปถึงการตอบแบบสอบถาม เกี่ยวกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาทิ อาการหงุดหงิดหัวเสียที่เพิ่มมากขึ้นเป็นต้น

ทีมวิจัยระบุว่า ผลลัพธ์ที่เด่นที่สุดซึ่งได้จากการทดลองครั้งนี้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าการอดนอนทีละน้อยทุกๆ คืน สามารถส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อร่างกาย "การจำกัดการนอนต่อเนื่องให้เหลือเพียง 6 ชั่วโมงต่อคืนหรือน้อยกว่านั้น ส่งผลให้เกิดการถดถอยของประสิทธิภาพในด้านการเรียนรู้และเข้าใจมากพอๆ กันกับการไม่ได้นอนเลย 2 คืน" เมื่อวัดจากผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจสอบสภาพร่างกายหลังครบเวลา 2 สัปดาห์แล้ว

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ในการตอบแบบสอบถาม ผู้ที่นอนเพียง 6 ชั่วโมงต่อคืน ตลอด 2 สัปดาห์ กลับไม่รู้ว่าเกิดผลลบต่อระบบการเรียนรู้ของสมอง และยังคิดว่าตัวเองอยู่ในสภาพปกติดี ซึ่งจะยิ่งส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกนั่นเอง