คนส่วนใหญ่คุ้นชินกับความรู้ที่ว่า "คนเราควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง" แต่สังเกตหรือไม่ว่า บางคนมีชั่วโมงการนอนมาก แต่พอตื่นนอนกลับพบว่าไม่สดชื่น ยังมีภาวะง่วงนอน ระหว่างวัน นั่นแสดงถึง "คุณภาพของการนอนหลับ" ซึ่งมีความสำคัญมากกว่า "ชั่วโมงการหลับ" เสียอีก

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาเรื่องการนอนหลับประมาณ 1 ใน 3 อาทิ นอนไม่ค่อยหลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น ซึ่งปัญหานี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จนกลายเป็นเรื้อรังจะส่งผลต่อสุขภาพตามมา

"การนอนหลับไม่เพียงพอ หลับไม่มีคุณภาพไปกระตุ้นให้เกิดโรคต่าง ๆ มากกว่า 100 โรค ที่พบบ่อยคือโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระบบประสาทและสมองเรื่องการรับรู้ จดจำ ฯลฯ โดยเฉพาะเด็กเล็กนั้นการนอนหลับอย่าง มีคุณภาพส่งผลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางสมอง นอกจากนี้ยังก่อโรคทางจิตเวชอีก อาทิ กังวล ซึมเศร้า"

ทั้งนี้ คุณภาพของการนอนหลับนั้นจะวัดจาก "การหลับสนิทยาวนานจนถึงเช้า" ตื่นนอนตอนเช้าแล้วรู้สึกสดชื่น สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างดีโดยไม่มีอาการง่วงซึมระหว่างวัน ไม่ใช่ว่านอน 8-10 ชั่วโมงก็จริง แต่ระหว่างนั้นมีภาวะหลับ ๆ ตื่น ๆ

นพ.วชิระ บอกอีกว่า แต่ปัจจุบันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นตัวขัดขวางการนอนหลับอย่างมีคุณภาพและเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ตลอดจนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ดังนั้นจึง มี 9 เทคนิค มาแนะนำให้ปฏิบัติตามเพื่อให้หลับง่าย หลับสบายขึ้น ดังนี้

1. ออกกำลังกายช่วงเย็นอย่างน้อย 30 นาที หรือ 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน

2. กินกล้วยหอม เพราะผิวของมันมีฤทธิ์เหมือนยานอนหลับ และมีสารเซโรโทนิน ช่วยคลายเครียด คลายกังวล ทำให้หลับสบาย ในกรณีของเด็กอาจจะผ่อนคลายด้วยการอ่านหนังสือนิทานให้ฟังก่อนนอน

3. เลี่ยงอาหารมื้อหนัก อาหารรสเผ็ดรสจัด หรือหวานมาก ก่อนเข้านอน 4 ชั่วโมง เพราะร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในการย่อยอาหาร

4. หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นประสาท 4-6 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

5. ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ด้วย การอาบน้ำอุ่น เดินเบา ๆ ไปมา หรือ การนั่งสมาธิ และไม่ควรทำกิจกรรม ที่กระตุ้นร่างกายและสมอง

6. จัดระเบียบห้องนอนไม่ให้มีสิ่งรบกวน ปิดไฟ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์สื่อสาร ก่อนนอน แต่บางรายอาจจำเป็นต้องเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศ ทำให้หลับสบายขึ้น

7. ไม่สูบบุหรี่ เพราะทำให้หลับยาก ตื่นบ่อย และฝันร้าย ซึ่งเป็นผลมาจากสารนิโคติน 8. เข้านอนให้เป็นเวลา ช่วงเวลา 21.00-23.00 น. กำลังดี ตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน รวมช่วงวันหยุดด้วย และ 9. เข้านอนเมื่อร่างกายพร้อมที่จะ นอน คือเมื่อรู้สึกง่วง และไม่ได้อยู่ใน ภาวะตึงเครียด อย่าพยายามฝืนนอน หาก ไม่ง่วง

รู้แล้วบอกต่อเพื่อให้ตัวเองและคนใกล้ชิดนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ห่างไกลโรค

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์