Belief 1 ต้องกินให้น้อย

เป็นความเชื่อฮอตฮิต คนที่พยายามลดน้ำหนักส่วนใหญ่จะใช้วิธีการนี้ โดยเชื่อว่าการกินให้น้อยจะทำให้น้ำหนักลดน้อยลงไปด้วย ทั้งที่ความจริงแล้วหากอดอาหาร ระบบเมทบอลิซึมหรือระบบเผาผลาญในร่างกายจะทำงานน้อยลงด้วย ส่งผลให้เกิดการขาดสารอาหารก็เป็นได้

นอกจากนี้บางรายอดอาหารเป็นมื้อ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายอีกแบบหนึ่ง อาทิเช่น คนที่อดมื้อเช้าจะทำให้ร่างกายขาดพลังงานที่จำเป็นต่อร่างกาย แม้น้ำหนักจะลดลงบ้างในช่วงแรก แต่จะเกิดภาวะแปรปรวนจนเกิดอาการโยโย่เอฟเฟกต์ หรือน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็วตามมา อีกทั้งเมื่ออดอาหารร่างกายจะเกิดการสะสมไขมันเพื่อเป็นพลังงานสำรองไว้ใช้เมื่อมีการอดอาหารครั้งต่อไป น้ำหนักคุณจึงไม่ลดลงอย่างถาวร กล้ามเนื้อที่มีจึงถูกแทนที่ด้วยไขมัน ร่างกายจึงไม่มีกล้ามเนื้อไว้เผาผลาญพลังงาน น้ำหนักจึงยังไม่ลดลงนั่นเอง

Belief 2 ยิ่งออกกำลังมาก น้ำหนักยิ่งลดเร็ว

ความจริงแล้วการออกกำลังกายมีข้อดีตรงช่วยให้ปอดแข็งแรง รับออกซิเจนได้เต็มที่ และมีการเผาผลาญพลังงานที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยิ่งออกกำลังกายถูกวิธีจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อซึ่งเป็นแหล่งเผาผลาญพลังงาน ยิ่งมีกล้ามเนื้อเยอะ จึงยิ่งเผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้น

แต่สิ่งสำคัญของการลดน้ำหนักคือ การมีพลังงานรับเข้า (การกิน) ได้สัดส่วนกับพลังงานที่ใช้ไป โดยในกรณีที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน พลังงานที่รับเข้าก็ควรน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ไป เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ลดระดับลงมาสู่สมดุลที่เหมาะสม การควบคุมอาหารจึงมีความสำคัญต่อการลดน้ำหนักมากกว่าการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ หากคุณหักโหมออกกำลังกายมากเกินไป (เกินพอดี) ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนความเครียดทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย หิวบ่อย และกินมากกว่าเดิม ยิ่งออกกำลังกายมากเกินจึงอาจยิ่งน้ำหนักไม่ลด การออกกำลังกานในประมาณที่เหมาะสม และเน้นความแข็งแรงร่วมกับความรู้สึกผ่อนคลายให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัวจึงน่าจะมีประโยชน์กว่า

Belief 3 ต้องงดกินแป้งเด็ดขาด

หลายคนอาจตั้งโปรแกรมการลดน้ำหนักของตนเองให้เน้นการกินโปรตีน และงดแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) เรียกว่าอดข้าวอดขนมปังกันไปเลย ทั้งที่ในความจริงร่างกายต้องการคาร์โบไฮเดรตในการสร้างพลังงงาน แต่ควรเปลี่ยนมาเป็นการเลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีพลังงานต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี การดูดซึมแป้งเข้าสู่ร่างกายจะช้ากว่าธัญพืชขัดขาว และข้าวขาว

Belief 4 ห้ามกินไขมันทุกชนิด

จริงๆ แล้วไขมันเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะการสร้างฮอร์โมนบางประเภท เช่น ฮอร์โมนเพศ หลายคนที่ไม่กินไขมันจึงแก่เร็ว

แต่อย่างไรก็ตาม การกินไขมันก็ต้องเลือกกินเฉพาะไขมันดี และกินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป เช่น ปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งดีต่อร่างกายและช่วยลดอาการอักเสบในระดับเซลล์ รวมถึงช่วยควบคุมน้ำหนักด้วย

นอกจากนี้แนะนำให้กินน้ำมันดี อย่างน้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก ในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ควรหลักเลี่ยงไขมันไม่ดีอย่างไขมันทรานส์

ในกรณีที่หลายคนหลีกเลี่ยงการกินไขมัน แต่เปลี่ยนมากินผลิตภัณฑ์จำพวกนม โยเกิร์ต ไอศกรีมที่ไขมันต่ำ จำเป็นต้องระวังน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเพื่อแต่งให้รสชาติดีซึ่งแฝงมาด้วย ดูฉลากโภชนาการก่อนกินจะดีที่สุดค่ะ

Belief 5 การนอนไม่สัมพันธ์กับน้ำหนัก

หลายคนเชื่อว่ายิ่งอดนอน ร่างกายจะทรุดโทรมและทำให้ผอม แต่ความจริงแล้วการพักผ่อนอย่างเพียงพอช่วยให้ควบคุมน้ำหนักได้ ขณะที่การพักผ่อนน้อย อดนอน จะยิ่งทำให้ระบบในร่างกายทำงานไม่ปกติ และเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

จากรายงานฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 2012 ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการอดอนและน้ำหนักตัวพบว่า การอดนอนทำให้การผลิตฮอร์โมนและการควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายทำงานผิดปกติ จึงยิ่งทำให้คนที่นอนน้อยมีความต้องการกินพลังงานสูงขึ้น คนที่นอนน้อยกว่าวันละ 5 ชั่วโมงจึงมีแนวโน้มจะน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าคนที่นอนอย่างพอเพียง

อ่านมาถึงตอนนี้แล้ว คงพอเช็คตัวเองได้นะคะว่า คุณเองเป็นหนึ่งในคนที่มีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนักด้วยหรือเปล่า ยังไม่สายที่จะเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นนะคะ หันมาทำในสิ่งใหม่ที่เราแนะนำ เพื่อจะได้ถึงเป้าหมายในการมีหุ่นสวยและสุขภาพแข็งแรงไปด้วยกัน …ด้วยความห่วงใย


ข้อมูลเรื่อง “5 ความเชื่อผิดๆ ทำอ้วน” จากคอลัมน์ Anti-Aging นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 355