Floater อาการมองเห็นจุดดำ หรือเส้นใยบาง ๆ ลอยไปมาในดวงตา คืออะไร แล้วเจ้า Floater นั้นมีอันตรายต่อดวงตาของเราหรือไม่ ได้เวลาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกันแล้ว
ดวงตา อวัยวะสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในร่างกาย เป็นอวัยวะที่ทำให้เรามองเห็นได้ แถมยังบอบบางมากกว่าที่เราคิด ดังนั้น เราต้องสำรวจความเปลี่ยนอยู่แทบจะตลอดเวลา เพราะหากเกิดความผิดปกติเพียงนิดเดียวก็อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายของดวงตาได้ อย่างเช่นอาการเห็นจุดดำลอยไปมาในดวงตา บางคนเห็นปุ๊บอาจจะตกใจจนต้องไปพบจักษุแพทย์ แล้วพอไปตรวจก็ถูกสรุปอาการด้วยคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยอย่างคำว่า Floater ก็ยิ่งทำให้ยิ่งกังวลอีกว่าเจ้าอาการนี้จะทำให้ตาบอดหรือไม่ แต่อย่าเพิ่งกังวลใจจนเกินไปค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมขอพาทุกท่านไปรู้จักกับอาการ Floater หรืออาการมองเห็นจุดดำในดวงตา ว่าจริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร และจะมีวิธีการรักษาหรือการป้องกันอย่างไร ถ้าอยากให้ดวงตาอยู่กับเราไปนาน ๆ ก็ห้ามพลาดเด็ดขาดเลย
Floater คืออะไร ?
โฟลตเตอร์ (Floater) หรือที่มีชื่อเรียกแบบเข้าใจง่ายว่า ตะกอนในน้ำวุ้นตา มีลักษณะเป็นใย หรือจุดดำเล็ก ๆ ในดวงตาสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ มักจะมองเห็นได้ชัดเมื่อต้องมองไปยังบริเวณที่มีเป็นพื้นเรียบ ๆ ที่สว่าง ๆ เช่น สถานที่กลางแจ้งแดดจ้า มักจะเกิดขึ้นร่วมกับอาการ ไฟแวบในดวงตา (Flashing) ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะเสื่อมของน้ำวุ้นลูกตา ทีเกิดขึ้นได้เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โดยจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล แต่อาการดังกล่าวไม่มีความอันตรายต่อดวงตาหรือการมองเห็นแต่อย่างใด และอาการมักจะหายไปในเวลาไม่นาน เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวให้ดวงตามองเห็นจุดดำที่ลอยไปมาน้อยลง
สาเหตุของ Floater
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น น้ำวุ้นในลูกตาจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยจะหดตัวลงและแปรสภาพจากวุ้นกลายเป็นน้ำ ทำให้เกิดตะกอนลอยในดวงตา แต่ก็ไม่มีมากนักและไม่รบกวนการมองเห็นของคนเรา นอกจากนี้เมื่อเยื่อหุ้มน้ำวุ้นตาด้านนอกเกิดการหดตัวลง ก็จะเกิดการแยกชั้นออกจากจอประสาทตาได้ อย่างไรก็ตาม อาการ Floater ยังสามารถเกิดได้อีกหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเลือดออกในน้ำวุ้นตา (Vitreous haemorrhage), ตะกอนแคลเซียมในน้ำวุ้นตา (Asteroid hyalosis) หรือแม้แต่น้ำวุ้นตาอักเสบ (Vitritis) ได้อีกด้วยค่ะ
Floater เกิดขึ้นกับใครบ้าง ?
อาการ Floater เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่มักจะต้องใช้สายตาจ้องกับจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานได้อีกด้วย โดยการจ้องจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะทำให้จอประสาทตาทำงานอย่างหนัก และทำให้ตาเกิดการเสื่อมสภาพไวขึ้นค่ะ
Floater และ Flashing เกี่ยวข้องกันหรือไม่
อาการจุดดำในตา (Floater) และอาการเห็นไฟแวบในตา (Flashing) เป็นอาการที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก เพราะน้ำวุ้นลูกตาเมื่อเกิดการหดตัวและแยกตัวออกจากจอประสาทตาก็จะเกิดการดึงรั้งจอประสาทตา กระตุ้นสัญญาณรับภาพที่จอประสาทตา ทำให้เหมือนมีแสงวูบวาบเกิดขึ้นในดวงตา โดยอาการเหล่านี้จะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่นานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Floater สามารถหายเองได้ แต่ Flashing หากไม่ทำการรักษาก็อาจจะทำให้จอประสาทตาเกิดการหลุดลอกได้
อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากอาการ Floater
เมื่อน้ำวุ้นในตาเกิดการแยกตัวกับจอประสาทตาก็อาจจะทำให้เกิดการดึงรั้งจอประสาทตาบางส่วน ทำให้เกิดการกระตุกของจอตาจนทำให้เห็นแสงวูบวาบ คล้ายฟ้าแลบ ซึ่งอาการนี้หากไม่รีบทำการรักษาก็อาจจะทำให้จอประสาทตาฉีกขาดและน้ำในลูกตาซึมเข้าไปจนทำให้จอตาลอกหลุดได้ ซึ่งสามารถมีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึง 15 % และจะต้องทำการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ เพื่อให้รอยฉีกขาดยึดด้วยกันได้ถาวร แต่ถ้าหากจอประสาทตาหลุดลอกไปแล้วก็จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแทนค่ะ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคจอประสาทตาหลุดลอกก็ได้แก่ อายุที่มากขึ้น, สายตาสั้น, โรคจอประสาทตาอักเสบ และอุบัติเหตุร้ายแรงกับดวงตาค่ะ
การตรวจจอประสาทตา
ในกรณีที่มีอาการจุดดำ หรือเห็นแสงวูบวาบเกิดขึ้นในดวงตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ควรจะไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคให้แน่นอน โดยการตรวจจอประสาทตา ผู้ป่วยจะได้รับการหยอดยาขยายม่านตา เพื่อให้จักษุแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างละเอียดด้วยกล้อง แต่ก็ในการตรวจวิธีนี้อาจจะทำให้รู้สึกตาพร่ามัวไปหลายชั่วโมงหลังการตรวจ จึงควรจะมีผู้ที่สามารถนำทางได้เพื่อพากลับบ้านได้ และควรจะสวมแว่นกันแดดเพื่อให้ตาไม่โดนแสงแดดจัด ๆ ค่ะ
วิธีการรักษา
เนื่องจาก Floater ไม่ใช่อาการที่อันตรายเท่าไรนักจึงไม่ต้องทำการรักษาโดยแพทย์ และในปัจจุบันก็ยังไม่มีการรักษาหรือวิธีการป้องกันใด ๆ ช่วยให้อาการเหล่านี้หายไปได้ นอกจากการไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการและตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการน้ำวุ้นลูกตาฉีกขาดหรือไม่
ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่อาการที่ร้ายแรงอะไร แต่อาการ Floater ก็เป็นสัญญาณเริ่มแรกของภาวะเสื่อมของดวงตา ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกต และหลีกเลี่ยงการใช้สายตาจ้องกับจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นาน ๆ หรือไม่ก็ควรพักสายตาบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ดวงตาต้องทำงานหนัก เพียงเท่านี้เราก็สามารถจะชะลอภาวะวุ้นในตาเสื่อมได้แล้วล่ะ แล้วก็อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตามาก ๆ ดวงตาจะได้ใสปิ๊งเป็นหน้าต่างของดวงใจเราต่อไปนาน ๆ ไงล่ะ