คนยุคนี้มีโรคภัยมากมายรุมเร้าโดยเฉพาะกลุ่มโรค "ไม่ติดต่อเรื้อรัง" อันมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิด ๆ กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ไม่ออกกำลังกาย ทว่าหากรู้และเข้าใจเรื่องของการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ก็จะลดอัตราเสี่ยงในการป่วยได้

          ดังนั้น ทุกครั้งที่เลือกกินอาหาร จึงไม่ควรเพียงกินให้อิ่มท้อง หรือเน้นแค่ความอร่อย แต่ต้อง"กินอย่างฉลาด" เพื่อต้านทานโรคด้วย
         
          อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุข เชี่ยวชาญโภชนาการ กล่าวกับ สสส. ว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ควรเจาะจงไปที่โรคใดโรคหนึ่งแต่ควรป้องกันไม่ให้เรามีความเสี่ยงเลยในทุก ๆ โรค ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ "ความสมดุล" ในการรับประทาน
 
          "พฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้องที่นำพาไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ การกินอาหารที่พลังงานสูงมากเกินไป ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด"
         
 

สลัดผัก



          สำหรับโรคความดันโลหิต สาเหตุหลักเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง หรือเค็มจัด ซึ่ง "โซเดียม" ไม่ได้มีแค่ในเกลือ น้ำปลา กะปิ เท่านั้นแต่ยังมีในอาหารอื่น ๆ ด้วย แม้ในอาหารที่ไม่มีรสเค็มแต่มีปริมาณโซเดียมสูงอย่าง ผงชูรส ผงฟูที่ใช้ในการทำเบเกอรี ก็ควรจะต้องระวังด้วยเช่นกัน

          "ปัจจุบันคนเราบริโภคอาหารเค็มเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เพราะอาหารปรุงสำเร็จแต่ละชนิดมักจะมีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว ในขณะที่เราควรบริโภคเกลือเพียงวันละ 1 ช้อนชา หรือไม่เกิน 6 กรัมเท่านั้น ถ้าร่างกายคนเราเมื่อปริมาณโซเดียมสูงเกินไป ไตจะขับถ่ายออกมา และเมื่อใดที่ไตทำงานผิดปกติ ก็จะไม่สามารถขับโซเดียมได้ ในปริมาณที่เหมาะสมจนร่างกายมีปริมาณโซเดียมสะสมสูง น้ำในร่างกายจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น นั่นหมายถึงว่า ระดับเลือดจะสูงขึ้นด้วย"
          
          อาจารย์สง่า ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตมีความสอดคล้องกัน ความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบหลายประการต่อหัวใจ เพราะเมื่อร่างกายมีภาวะความดันในหลอดเลือดสูง หัวใจก็จะต้องบีบตัวมากขึ้นเพื่อต้านกับความดันในหลอดเลือดที่สูง เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ฉะนั้นการได้รับอาหารปริมาณที่พอเหมาะ และถูกสัดส่วน ไม่มากหรือน้อยเกินไป เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

          อีกหนึ่งโรคยอดนิยมคือ โรคเบาหวาน โดยมีที่มาจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินปกติ การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล และแป้งสูง เพราะแป้งสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ ซึ่งหลายคนที่ควบคุมความหวานมักจะเน้นไปทางน้ำตาล แต่ละเลยในเรื่องการควบคุมแป้ง ทำให้ก็ยังคงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเช่นเดิม ควรรับประทานอาหารที่ครบถ้วนตามโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ ธัญพืช ช่วยให้การย่อย และการดูดซึมน้ำตาลช้าลง ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสามารถดึงน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้งานได้ทัน ไม่เกิดการสะสมมากเกินความจำเป็นของร่างกาย

          "อาหารไทยพื้นบ้านเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง เช่น น้ำพริก แกงเลียง แกงส้ม ล้วนมีผักเป็นส่วนประกอบ และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม"  
       
          ทั้งนี้ เคล็ดลับในการกินอย่างถูกต้อง คือการดูข้อมูลแหล่งที่มาของอาหารที่รับประทานว่ามีปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือเกลือมากน้อยเท่าไหร่ สังเกตพฤติกรรมการรับประทานของตนเอง ลดปริมาณการบริโภคให้เพียงพอกับร่างกาย แล้วหันมารับประทานผัก และผลไม้ให้มากขึ้น ในทุก ๆ มื้อควรจะมีผักผลไม้เป็นส่วนประกอบ
        
          การสร้าง "สมดุล" ให้ชีวิต นับเป็นเส้นทางสู่การมี "สุขภาพดี" หากคุณใส่ใจสุขภาพเสียตั้งแต่วันนี้ เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ กินให้ถูก ดูแลจิตใจ และออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ย่อมห่างไกลจากการป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง...
  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th