เข้าใจว่าหลายคนยังสงสัยภาวะของโรคหอบหืดกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าโรคหอบหืดกับโรคภูมิแพ้ใช่โรคเดียวกันไหม ยิ่งโรคหอบหืดก็เป็นหนึ่งในโรคที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหารด้วยแล้ว วันนี้เรามาศึกษากันไว้ดีกว่าค่ะว่า ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคหอบหืดสูงกันบ้าง อาการโรคหอบหืดคืออะไร รวมไปถึงการรักษาโรคหอบหืดควรใช้วิธีไหนดี
โรคหอบหืดคืออะไร ?
โรคหอบหืด คือ โรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดลม โดยเมื่อได้รับสารระคายเคืองหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หลอดลมจะเกิดภาวะตีบตัน อากาศจะเข้าสู่ปอดน้อยลง ทำให้หายใจลำบาก หอบ และเหนื่อยง่าย
และเมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้รอบข้าง หรือสารกระตุ้นใด ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ก็อาจจะเกิดอาการดัง 3 ลักษณะนี้ จนทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมตีบตัน
1. การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม
2. การบวมอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม
3. เสมหะจำนวนมากที่คั่งค้างอยู่ในหลอดลม
สาเหตุของโรคหอบหืด
โรคหอบหืด มีสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอาจแบ่งออกได้ 7 ปัจจัยดังต่อไปนี้
1. พันธุกรรม
แม้โรคหอบหืดจะไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรงเสมอไป แต่คนที่มีอาการหอบจับ และมีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ค่อนข้างสูง
2. สิ่งกระตุ้นต่าง ๆ
โดยเฉพาะสิ่งกระตุ้นประเภทสารก่อภูมิแพ้ เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษจากสิ่งแวดล้อม ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น ละอองจากซากแมลงสาบ เกสรดอกไม้ ละอองเชื้อรา ขนหรือสะเก็ดรังแคผิวหนังของสัตว์เลี้ยง อาหารบางชนิด สารเคมีในที่ทำงาน หรือการเป็นหวัด
3. การออกกำลังกายอย่างหักโหม
โดยเฉพาะการออกกำลังหนัก ๆ ในสถานที่ที่มีอากาศหนาวแย็นและแห้ง
4. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
เมื่อร้องไห้หรือหัวเราะอย่างหนัก หรือแม้แต่รู้สึกเครียดก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาหารหอบหืดได้เช่นกัน
5. การเปลี่ยนแปลงทางอากาศ
ในเวลาที่ฝนใกล้จะตก หรือในช่วงที่อากาศเย็นจัดและแห้งแล้ง ก็อาจทำให้เกิดโรคหอบหืดได้
6. พฤติกรรมมารดาในช่วงตั้งครรภ์
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งท้อง ก็มีส่วนเพิ่มโอกาสให้ลูกในครรภ์มีโรคหอบหืดติดตัวมาตอนคลอดได้
7. ติดเชื้อไวรัส
โรคหอบหืดอาจเกิดขึ้นกับคนที่ไม่เคยเป็นโรคหอบหืดและไม่เคยมีประวัติของโรคนี้มาก่อน โดยมาเป็นหอบหืดหลังจากติดเชื้อไวรัสบางชนิด
อาการหอบหืด สังเกตได้จากอะไร
อาการหอบหืดมีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน จำแนกได้ตามระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งมีตั้งแต่อาการหอบหืดไม่รุนแรง ปานกลาง และหนัก โดยสังเกตได้จากอาการเบื้องต้นดังนี้
- ไอ หอบไอ
- แน่นหน้าอก
- หายใจมีเสียงหวีด
- หายใจสั้นและลำบาก
อาการหอบหืดดังกล่าวมักจะเป็น ๆ หาย ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการหอบไอจะค่อนข้างหนักในตอนเช้า เวลาวิ่งเล่น ออกแรงมาก ๆ และตอนกลางคืน หรือในช่วงที่สัมผัสกับสิ่งที่แพ้หรือระคายเคือง
แต่อย่างไรก็ตาม มูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทยแนะว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดสามารถประเมินความรุนแรงของโรคด้วยตัวเองได้ โดยดูลักษณะอาการทางคลินิก และการทดสอบสมรรถภาพปอดอย่างง่ายด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า PEAK FLOWMETER และมาเปรียบเทียบอาการตามตารางด้านล่างนี้
โรคหอบหืด การรักษาทำอย่างไรได้บ้าง
การรักษาโรคหอบหืดจะต่างกันในคนไข้แต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุคนไข้ และภาวะที่เกิดร่วมกับโรคหอบหืด เช่น ภาวะภูมิแพ้ หรือโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง แต่โดยทั่ว ๆ ไป แนวทางรักษาที่ยอมรับโดยผู้เชี่ยวชาญมีอยู่ 4 ข้อดังนี้
1. แนะนำให้ใช้การตรวจสอบสมรรถภาพของปอด เพื่อบ่งชี้ความรุนแรงของโรค และเพื่อติดตามวัดผลการรักษา
2. การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ หรือป้องกันการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมร่วมกับการใช้ยา เพื่อคลายกล้ามเนื้อรอบหลอดลมที่หดตัว
3. การควบคุมภาวะแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีภาวะภูมิแพ้ร่วมด้วย รวมถึงการรักษาเฉพาะเจาะจงในภาวะภูมิแพ้
4. ต้องให้ความรู้คนไข้และครอบครัวเกี่ยวกับโรคหอบหืด และการปฏิบัติตน เช่น เลิกสูบบุหรี่ วิธีการออกกำลังกาย และวิธีใช้ยาที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหอบหืดที่ดีที่สุดควรต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยนะคะ ทว่าสำหรับคนที่มีอาการแพ้ยา หรืออยากมองหาตัวเลือกเพื่อรักษาโรคหอบหืดแบบอื่น ๆ สมุนไพรแก้หอบหืดก็เป็นตัวเลือกที่น่าลอง และวันนี้เราก็มีสมุนไพรแก้หอบหืดมาแนะนำตามข้อมูลด้านล่างนี้เลย
* สมุนไพรรักษาโรคหอบหืด อีกหนึ่งทางเลือกของคนแพ้
* หนุมานประสานกาย แก้หอบหืด แก้ไอ เจ็บคอ
แม้โรคหอบหืดจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่วิธีการบำบัดต่าง ๆ รวมทั้งการดูแลตัวเองของผู้ป่วยจะช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคหอบหืดควรต้องจำให้ขึ้นใจว่าตัวเองแพ้สารอะไรบ้าง เพื่อจะได้เลี่ยงสารที่แพ้ รวมไปถึงควรจดจำตัวยาแก้หอบหืดที่ใช้เป็นประจำให้ขึ้นใจด้วย
นอกจากนี้บรรดาควันบุหรี่ สถานที่ที่มีฝุ่นควันและมลพิษเยอะก็ควรต้องเลี่ยงให้ไกล พร้อมทั้งดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดี ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริโภคอาหารให้ครบหมู่โภชนาการ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และอย่าปล่อยให้มีอาการหวัดเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบ ที่สำคัญควรเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
สมาคมโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก