ถ้าคุณมีอาการนึกอะไรบางอย่าง แต่กลับนึกไม่ออก เช่น นึกไม่ออกว่าวางกุญแจรถไว้ที่ไหน หรือจับมือถือครั้งสุดท้ายเมื่อไร ลืมง่ายอย่างนี้บ่อย ๆ คงกำลังกังวลอยู่บ้างแน่ ๆ ว่าตัวเองใกล้จะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมไหม เอาล่ะ ! ความจำสั้นเป็นพัก ๆ แบบนี้มาลองดูซิว่า อาการที่ว่าคืออะไรกันแน่
ก่อนจะกังวลไปถึงอาการของโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ควรเข้าใจสักนิดค่ะว่า แม้สมองของเราจะมีความสามารถและพื้นที่มากมายสำหรับบันทึกความทรงจำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหรือมีเรื่องให้ต้องคิดเยอะ ๆ ในเวลาเดียวกัน สมองจะทำหน้าที่จดจำสาระบางอย่างที่สำคัญกับชีวิตเท่านั้น ดังนั้นหากจะหลงลืมหรือละเลยความใส่ใจกับรายละเอียดเล็กน้อยที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจนทำให้จำไม่ได้ พอจะนึกก็นึกไม่ออก แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติมาก ๆ
ทว่าสำหรับบางคนที่นึกบางอย่างไม่ออกบ่อย ๆ เป็น ๆ หาย ๆ มาสักพัก อาการแบบนี้อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมในชีวิตด้วย เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด มีเรื่องที่กำลังกังวลอยู่ในใจ ห่างหายจากการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรือสูบบุหรี่จัดมาก ๆ รวมทั้งอายุที่มากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ความทรงจำของเราย่ำแย่แบบไม่ต้องสืบ
ทั้งนี้หากจะอธิบายในเชิงลึกเกี่ยวกับความทรงจำและสมองของเราอีกสักหน่อย งานวิจัยจากสถาบัน MIT ก็บอกว่า จริง ๆ แล้วสมองของเรามีความสามารถในการแยกแยะและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เจอได้ และความสามารถนี้จำเป็นต้องทำงานร่วมกันกับความทรงจำเกี่ยวกับภาพ (Memories of visual images) และความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ รวมไปถึงประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่เจอด้วย จึงจะทำให้สมองดึงเรื่องที่น่าจดจำไปอยู่ในส่วนที่ทำให้สมองจดจำอะไรได้นาน ๆ ส่วนประเภทคนที่เพิ่งเจอหน้ากันไม่กี่ครั้ง หรือร้านอาหารที่เพิ่งไปครั้งแรก เหล่านี้สมองจะแยกไว้ในโซนความทรงจำชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปและมีเรื่องที่น่าจำใหม่ ๆ เข้ามา ความทรงจำเดิมในโซนนี้จะเลือนหายไปจนเราจำไม่ได้นั่นเอง
บำรุงสมองให้ความจำดีทำยังไง
บำรุงสมองให้เฉียบแหลมทำได้ไม่ยาก แค่ต้องเริ่มที่ตัวคุณก่อนดังนี้
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
ผลการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า การนอนหลับที่สนิทให้ครบ 8-12 ชั่วโมงเป็นปัจจัยที่บำรุงความทรงจำของเราได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจดจำอะไรได้อย่างแม่นยำ หรือด้านการจดจำทักษะต่าง ๆ อย่างถาวร
2. เลือกกินอาการที่มีประโยชน์
อย่างที่เตือนไปในข้างต้นว่า พฤติกรรมบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน คอเลสเตอรอล น้ำตาล อาจเป็นสาเหตุให้เส้นเลือดในสมองอุดตัน อีกทั้งการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังพบด้วยว่า คนที่นิยมบริโภคไขมันอิ่มตัวบ่อย ๆ โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์และผลิตภัณฑ์นม มีทักษะความทรงจำที่แย่กว่าคนที่บริโภคไขมันอิ่มตัวน้อย
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้การไหลเวียนเลือดของเซลล์สมองคล่องตัวไม่ติดขัด
4. ลด ละ เลิก บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งบุหรี่และแอลกอฮอล์สามารถสร้างความเสียหายให้แก่เส้นเลือดสมองของเราได้ ดังนั้นพยายามหลีกเลี่ยงของเหล่านี้จะดีกว่า เพื่อความทรงจำที่ดีของตัวเราเองนะคะ
5. สูงวัยไม่เป็นไร มาบำรุงสมองด้วยกันสิ
ปัญหาความทรงจำถดถอยไปตามอายุที่มากขึ้นไม่มีใครหนีพ้นแน่ ๆ แต่อย่าปล่อยให้ความชรามาพรากความทรงจำดี ๆ และสุขภาพสมองไปได้ง่าย ๆ มาบำรุงสมองด้วยอาหารที่ช่วยให้สุขภาพสมองเฮลท์ตี้กันเถอะ กินให้ความจำดีก็ทำตามนี้เลย (อาหารบำรุงสมองให้ใสปิ๊ง โบกมือลาโรคอัลไซเมอร์ไปได้เลย !)
6. อย่าลืมฝึกสมอง
ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก ยังไงเราก็ควรบริหารสมองกันบ้าง เพราะหากปล่อยให้สมองว่างงานจนเกินไป ความเสื่อมถอยของสุขภาพสมองจะค่อย ๆ คืบคลานมาหาคุณอย่างแน่นอน ดังนั้นมาฝึกสมองไปพร้อมกับกิจกรรมดี ๆ เหล่านี้กันเถอะ (12 วิธีเพื่อความจำเป็นเลิศ)
ด้วยภาระหน้าที่และสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรา อาจทำให้สมองเกิดอาการโหลดและช้าไปบ้าง ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการนอนหลับให้เพียงพอ จะช่วยให้สุขภาพกายและการทำงานของสมองเป็นไปอย่างเต็มความสามารถมากที่สุด ฉะนั้นการดูแลสุขภาพง่าย ๆ แบบนี้ก็อย่าละเลยเชียวนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก oprah.com, webMd.com, lifehacker.com