มนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาย่อมมีอารมณ์ความรู้สึกด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกท่านทราบหรือไม่คะว่า ถ้าเราติดอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานเกินไป หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา

  ถ้าเราโกรธเป็นประจำจะส่งผลให้ลมปราณตับและถุงน้ำดีผลักดันเลือด และลมปราณวิ่งย้อนขึ้นด้านบน ทำให้อาเจียนเป็นเลือด แน่นหน้าอก ถอนหายใจบ่อยหรือรู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอ เบื่ออาหาร ปวดหัวแบบแน่นๆ ตึงๆ บางรายที่อาการหนัก อาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ

 

  หากลมปราณตับไปกดการทำงานของม้าม อาจทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย  ในสตรีประจำเดือนอาจผิดปกติ มาช้าบ้าง เร็วบ้าง ไม่สม่ำเสมอบ้าง และปวดประจำเดือน มีคำกล่าวเกี่ยวกับความโกรธที่พบเห็นบ่อยๆ เช่น คำว่า “โกรธจนหน้าเขียว” อธิบายได้จากทฤษฎีปัญจธาตุว่า อารมณ์โกรธส่งผลต่ออวัยวะตับ ม้าม สามารถแสดงออกที่ตา โดยทำให้มีอาการคันตา เคืองตา ตาแห้ง ต้องหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ

  รวมถึงคำว่า “เครียดลงกระเพาอาหาร ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในนักศึกษาแพทย์จีนช่วงสอบที่มีความกดดันสูง บางคนมีอาการท้องเสียก่อนเข้าห้องสอบ หรือแม้กระทั่งมีอาการอาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากลมปราณของกระเพาะอาหารติดขัด ม้ามพร่อง ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

  สำหรับวิธีจัดการอารมณ์โกรธตามหลักแพทย์แผนจีนคือ ก่อนอื่นเราต้องมีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง กำหนดรู้ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเราอาจจะใช้อารมณ์หนึ่งมาควบคุมอีกอารมณ์หนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ขณะที่เรากำลังโกรธโมโหสุนัขเร่ร่อนที่มาขโมยอาหารในบ้านไปกิน ก็ให้เรานึกถึงความเศร้าโศกเสียใจในอดีต เช่น เมื่อก่อนเราเคยถูกป้าข้างบ้านวิ่งไล่ตี ขณะปีนไปเก็บมะม่วงในสวนข้างบ้านด้วยความอยากกิน และคึกคะนอง คิดเสียว่าสุนัขตัวดังกล่าวก็คงไม่ต่างจากเราในอดีต อาจช่วยให้รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่คิดโกรธแค้นสุนัขตัวดังกล่าวอีก เนื่องจากอารมณ์เศร้าโศกเสียใจสามารถข่มอารมณ์โกรธให้ดับลงได้ โดยอาจจะร้องไห้ออกมาภายหลังจากที่อารมณ์โกรธสงบลงตามความสัมพันธ์ในทฤษฎีปัญจธาตุ

  นอกจากนี้เราควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เผ็ดจัด ของมัน ของทอด โดยอาจจะเลือกกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว เพื่อระบายลมปราณตับที่ติดขัดให้ดีขึ้น  เป็นวิธีดับโกรธง่ายๆ ที่ช่วยให้สุขภาพจิตเราดีขึ้น แต่ทางที่ดีอย่าโกรธเลยจะดีกว่าค่ะ

แพทย์จีนนนภษร แสงศิวะฤทธิ์ 

 

ที่มา : health.haijai