อันที่จริงกางเกงรัดรูปนี้เป็นที่นิยมมานานมาก เมื่อผู้เขียนจบแพทย์ใหม่ๆ เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนหนึ่งขอให้หมอกรีดเนื้อส่วนเกินที่ต้นขาและน่องออก เพื่อขาจะได้ลีบและใส่กางเกงรัดรูปได้ แม้ขาเป็นแผลเป็นยาวแค่ไหนก็ยอม ผู้เขียนเห็นแผลเป็นของเขาแล้วรู้สึกตกใจมากที่กล้ายอมเจ็บและลงทุนทำถึงขนาดนี้

 

  ยิ่งในปัจจุบัน นอกจากความนิยมสวมใส่กางเกงสกินนี่แล้ว ยังนิยมกางเกงเอวต่ำทั้งผู้หญิงผู้ชาย เวลาก้มผู้ชายที่สวมกางเกงแบบนี้จะเห็นกางเกงในโผล่มาครึ่งตัว กางเกงในบางคนกระดำกระด่างไม่น่าดู ส่วนผู้หญิงอาจมองเห็นถึงง่ามก้นทีเดียว ผู้ใหญ่ที่ทนไม่ได้จะบ่นว่า เด็กสมัยนี้สวมกางเกงอุจาด แทบจะเห็นถึงรูตูด

  อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นความนิยมตามยุคสมัย พฤติกรรมการแต่งกายแบบนี้ก็ถือว่าไม่สุภาพ หากไปสัมภาษณ์งานที่เป็นทางการถือว่า แต่งกายไม่เหมาะสม อาจไม่ได้รับเลือก นอกจากนั้นการสวมเสื้อผ้ารัดรูปให้เห็นรูปร่างและอวัยวะเพศถือว่าเป็นการยั่วยวนทางเพศ เสี่ยงต่อการถูกลวนลาม

  การสวมกางเกงรัดรูปในผู้ชายนั้น มีงานวิจัยยืนยันว่า ทำให้มีลูกยาก เนื่องจากทำให้ลูกอัณฑะร้อนขึ้น และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จึงสร้างอสุจิได้ไม่ดี ในบางประเทศที่อยากให้ประชากรมีลูกมากขึ้น มีคำแนะนำทางด้านสาธารณสุขคือ ให้ผู้ชายสวมกางเกงหลวมๆ

 

สำหรับผู้หญิง การแต่งกายด้วยกางเกงและเครื่องแต่งกายรัดรูป อาจมีผลร้ายต่อสุขภาพดังนี้

 

1.กดเส้นเลือด เส้นประสาท เสื้อผ้ารัดรูปอาจกดเส้นเลือด เส้นประสาท ทำให้รู้สึกชาแถวสะโพก น่อง ทำให้ขาและเท้าสองข้างบวม หากถอดออกไม่สวมอีก อาการก็มักจะดีขึ้น  มีรายงานทางการแพทย์ เป็นเคสผู้หญิงสวมกางเกงสกินนี่นาน 4 ชั่วโมง รู้สึกชาที่ขาแต่ก็อดทน จนล้มลงเพราะเดินไม่ได้ ต้องนอนโรงพยาบาลเพราะน่องสองข้างบวมเป่ง มีเลือดคั่งจากการกดการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดคั่งที่น่อง เมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทัน อาการก็ดีขึ้น  กรณีอื่นๆ ที่ต้องระวังคือ ในเด็กที่พูดหรือสื่อสารไม่ได้ มีรายงานว่าการสวมเสื้อผ้าคับๆ กางเกงคับๆ หรือใช้ผ้าพันให้ความอบอุ่นแน่นเกินไป แขนขาอาจขาดเลือดถึงกับต้องตัดทิ้งทีเดียว

2.ติดเชื้อรา หากสวมเสื้อผ้ารัดรูปนานๆ จะเพิ่มความอับชื้น เกิดการติดเชื้อรา ทำให้มีอาการคัน แสบ ขึ้นผื่นเป็นเชื้อราตามผิวหนัง ใต้ราวนมหน้าท้อง ขาหนีบ และจุดซ่อนเร้นตามมา

3.เป็นฝีที่ผิวหนัง อวัยวะเพศหัวหน่าว และก้น พบได้มากในคนที่สวมเสื้อผ้าคับนานๆ บางอาชีพที่ต้องสวมกางเกงนั่งนานๆ ท่ามกลางอากาศร้อน อับ ชื้น เช่น อาชีพขายกล้วยทอด พนักงานเก็บตั๋ว นั่งรถทางไกล ฯลฯ ก็เป็นฝีที่ในส่วนสงวนได้บ่อ

4.ผื่นแพ้ ร่างกายคนเราหากมีอะไรรัดไว้แน่นหรือถูแรงๆ ทำให้เม็ดเลือดขาว (Mast Cell) ปล่อยสารฮีสตามีนออกมา ทำให้เกิดผื่นแดง ผื่นลมพิษ มีอาการคัน แสบ เจ็บ ในบริเวณที่ถูกรัดได้

5.กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การสวมกางเกงรัดและคับทำให้เชื้อโรคจากทวารหนัก หรือจากช่องคลอดปนเปื้อนในรูปัสสาวะ ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ ในบางรายที่ภูมิต้านทานไม่ดี หรือกำลังตั้งครรภ์ จากอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบ ซึ่งมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดหลัง ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

6.ปวดหลัง กาสวมเสื้อผ้ารัด ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายไม่สะดวกหลังเกร็ง กระดูกหลังไม่สามารถเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ เกิดอาการปวดหลังได้

7.ปวดท้อง เป็นผลจากการกรดหรือรัดของกางเกงจนส่งผลให้อวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติ เกิดอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน ท้องผูก และปวดท้อง

8.ปวดประจำเดือน ในรายที่สวมกางเกงรัดมากขณะเป็นประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนไหลไม่สะดวก ส่งผลให้มดลูกบีบตัวแรงขึ้น ทำให้ปวดประจำเดือน หรือประจำเดือนมากะปริดกะปรอยได้

9.โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ การไหลออกไม่สะดวกของประจำเดือน จากการสวมเสื้อผ้ารัด อาจทำให้ประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก ท่อนำไข่หรืออวัยวะในอุ้งเชิงกราน เกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตชีสต์ ทำให้ปวดประจำเดือนมีลูกยาก

10.เป็นลม ในเมืองที่มีอากาศร้อนอย่างบ้านเรา การสวมเสื้อผ้าคับจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เป็นลมหมดสติได้ เวลามีคนเป็นลม อันดับแรกในการปฐมพยาบาลคือคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออ

11.ปวดกล้ามเนื้อ ปวดชายโครง เคยเจอผู้หญิงหลายคนมาหาด้วยเรื่องปวดชายโครง เวลาหายใจเสียวชายโครงมาก เมื่อตรวจพบว่า เธอสวมชุดชั้นในที่โฆษณาว่า ช่วยลดน้ำหนัก การรัดมากๆ เช่นนั้นทำให้ชายโครงอักเสบ บางคนเจ็บบริเวณใต้เต้านมไหล่ และศีรษะอีกด้วย

12.เกิดภาวะฉุกเฉิน การสวมเสื้อผ้ารัดนั้น หากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ตกน้ำ ไฟดูด มีบาดแผล ฯลฯ จะเป็นอันตรายกว่าการสวมใส่ธรรมดา เพราะการเคลื่อนไหวหรือช่วยตนเองไม่สะดวกทั้งเวลาเปียก โดนน้ำ เสื้อผ้าเหล่านี้จะยิ่งรัดมากขึ้น ทำให้ถอดออกได้ยาก

 

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

สูติ-นรีแพทย์

โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร

ที่มา : health.haijai