เมื่อพูดถึงยาหอมคงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่คนส่วนใหญ่แม้รู้จักก็จริง แต่อาจเพียงชื่อ สำหรับคนที่รู้จักก็เข้าใจว่า ยาหอมเป็นยาคนแก่สำหรับใช้แก้ลมวิงเวียนเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วยาหอมมีสรรพคุณมากมาย

รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เทคนิคการป้องกัน บรรเทา และรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นจากโรคต่างๆ ด้วย “ยาหอม” และศาสตร์การดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร

ปัจจุบันเรามียาหอมมากกว่า 500 ตำรับ ซึ่งแต่ละตำรับประกอบไปด้วยสมุนไพรมากมายหลายสิบชนิด โดยสันนิษฐานกันว่าที่มาของชื่อยาหอมนี้น่าจะมาจากกลิ่นของสมุนไพรในตำรับ ยา เช่น จันทน์เทศ จันทน์แดง จันทร์ขาว ดอกพิกุล บุนนาค สารภี ใบพิมเสน เกสรบัวน้ำ เปราะหอม เป็นต้น

  ในส่วนของสรรพคุณ นอกจากยาหอมจะช่วยบรรเทาอาการปวดมึนศีรษะ เป็นลม วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น อย่างที่ เรารู้ๆ กันแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะข้างเดียว ความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งบำรุงประสาทและบำรุงหัวใจอีกด้วย ที่สำคัญคือ ปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงสรรพคุณต่างๆ ของยาหอมมีส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายของเราด้วย
สรรพคุณที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้

  ข้อมูลศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์นี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงศักยภาพของตำรับยาแผนโบราณให้กลับเข้ามาอยู่ในกระแสสังคมอีกครั้ง และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ โดยได้เลือกทำการศึกษาเปรียบเทียบ ตำรับยาหอม 3 ตำรับคือ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทรจักร ซึ่งเป็นยาในชื่อบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ของกระทรวงสาธารณสุข 2 ตำรับ มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบกว่า 50 ชนิด และยาหอมของภาคเอกชน 1 ตำรับ ซึ่งยาหอมทั้ง 3 ตำรับนี้จะมีสมุนไพรที่ทับซ้อนกันอยู่ประมาณ 40 ชนิด โดยผลจากการวิจัยครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าสารสกัดยาหอมทั้ง 3 ตำรับนี้มีฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเรา คือ

• ยาหอมมีฤทธิ์ต่อหัวใจ คือสามารถเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสกัดยาหอมอินทรจักร

• มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต โดยเฉพาะในขนาด 4 กรัม ผงยาหอม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือด systolic, diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย โดยมีผลต่อความดันเลือด systolic มากกว่า ความดันเลือด diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย

• มีฤทธิ์ต่ออัตราการไหลเวียนในหลอดเลือดสมอง พบว่า หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น

• มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือส่งผลต่อการนอนหลับได้ โดยสารสกัดยาหอมของเอกชนและอินทจักร มีฤทธิ์กดต่อระบบประสาทส่วนกลางเมื่อให้สัตว์ทดลองได้รับเฉพาะแต่สารสกัด แต่ถ้าให้สารสกัดยาหอมทั้ง 2 ชนิดนี้ร่วมกับ pentobarbital ซึ่งเป็นยานอนหลับ จะพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับยาวนานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะสารสกัดยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางมากกว่า 2 ชนิดแรก

• ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดยาหอมนวโกฐจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ซึ่งพบว่า ยาหอมนวโกฐมีผลยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กได้มากกว่าอีก 2 ตำรับ

• ฤทธิ์แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน สารสกัดยาหอมอินทรจักรสามารถต้านการอาเจียนได้ ปลอดภัยไร้สารตกค้าง

จากผลการวิจัยนี้จะเห็นว่ายาหอมแต่ละตำรับ แม้จะให้ผลโดยรวมคล้ายกัน แต่มีน้ำหนักในสรรพคุณต่างๆ ที่ต่างกัน ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ เช่น ยาหอมนวโกฐทำให้หลับสบาย ช่วยบรรเทาปวดท้องได้ดีกว่า ขณะที่ยาหอมอินทรจักรบรรเทาคลื่นไส้ได้ดีกว่า

“นอกจากนี้ในงานวิจัยนี้ยังได้ทดสอบความเป็นพิษตกค้างของยาหอมทั้ง 3 ชนิดด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผลที่ได้ไม่พบว่า มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต ค่าเคมีของเลือด รวมทั้งการทำงานของระบบตับและไตของของหนูที่ทำการทดลอง ซึ่งนั่นหมายถึงมีความปลอดภัยในการใช้นั่นเอง” อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุป

ยาหอมนับเป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของไทย หากเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยอาศัยความรู้ ก็จะสามารถบำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดีและปลอดภัย

 

เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลโดย ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หนังสือใครไม่ป่วยยกมือขึ้น และจดหมายข่าวเพื่อนธรรมชาติ/มูลนิธิสุขภาพไทย

ที่มา : health.mthai