ผู้หญิงที่ดื่มเบียร์มากกว่าหนึ่งครั้งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจลดลงไป 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับคนที่ดื่มหนักและผู้หญิงที่ไม่ดื่มเบียร์เลย โดยข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ศึกษามาจากชาวสวีเดน 1,500 คนกินระยะเวลาเกือบ 50 ปี

ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยที่สถาบันชาห์ลเกรนสกา มหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก ได้ติดตามประชากรเพศหญิงที่คัดเลือกมา โดยศึกษาข้อมูลที่เก็บตั้งแต่ปี 1968 ถึง 2000 (ปัจจุบันผู้หญิงในการศึกษาครั้งนี้อายุระหว่าง 70 ถึง 92 ปี)

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว นักวิจัยได้พยายามจะสร้างแผนภูมิความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิด กับการเกิดโรคหัวใจ ลมชัก เบาหวาน และมะเร็ง

นักวิจัยใช้วิธีแจกแบบสอบถาม โดยมีคำถามถึงความบ่อยในการดื่มเบียร์ ไวน์ เหล้า (ตั้งแต่ดื่มทุกวันไปจนถึงไม่เคยดื่มเลยใน 10 ปีที่ผ่านมา) และมีคำถามเกี่ยวกับอาการแสดงทางกายภาพ

ในช่วง 32 ปีที่ติดตามมา ผู้หญิง 185 คนมีอาการโรคหัวใจ 162 คนมีอาการลมชัก 160 คนเป็นโรคเบาหวาน และ 345 คนเป็นมะเร็ง

ผลการศึกษาพบความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญว่าการดื่มเหล้าหนักๆทำให้ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มน้อย

การศึกษาครั้งนี้ยังเผยด้วยว่า คนที่ดื่มเบียร์หนึ่งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์ ไปจนถึงดื่มหนึ่งถึงสองครั้งต่อเดือนจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่ดื่มหลายครั้งต่อสัปดาห์หรือต่อวัน หรือผู้ที่ไม่เคยดื่มเลย นั่นคือ การดื่มเบียร์ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นน่าจะช่วยป้องกันโรคหัวใจได้

"งานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมจะมีผลกระทบในแง่ดีในเชิงป้องกัน แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ผลการศึกษาของเรานั้นตัดเอาปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจออกไปแล้ว และในขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการดื่มไวน์ที่เหมาะสมนั้นจะให้ผลเหมือนกันหรือไม่ ดังนั้น การศึกษาของเรายังต้องมีการวิจัยติดตามต่อไป" โดมินิค ฮานเก นักวิจัยเผย โดยงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Scandinavian Journal of Primary Health Care แล้ว

 

ที่มา : vcharkarn