ปัจจุบันเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น ในแต่ละวันใช้เวลาหลายชั่วโมงกับการท่องโลกออนไลน์ผ่านหน้าจอมือถือ  แทปเล็ต และคอมพิวเตอร์ พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อดวงตา ทำให้มีอาการตาพร่ามัว ตาแห้ง  แสบตา จนนำไปสู่สภาวะของ Computer Vision Syndrome ได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนทำให้เกิดความเสื่อมของดวงตา เช่น รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีจากแสงแดด การใส่คอนแทคเลนส์แบบต่างๆ รวมถึงควันจากบุหรี่ก็เป็นอันตรายต่อดวงตาของเราได้เช่นกัน

ดังนั้น หากเราต้องการมีสุขภาพดวงตาที่ดี เราจำเป็นต้องหันมาใส่ใจดูแลดวงตาอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการรักษาดวงตาให้อยู่กับเราไปนานๆ การรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระจะมีส่วนช่วยในการชะลอความเสื่อมของดวงตาได้

สารต้านอนุมูลอสิระที่เป็นอาหารเสริมทางจักษุวิทยา ได้แก่

• บิลเบอร์รี่ ผลไม้ที่อุดมด้วยแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารสีน้ำเงินที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยในการสร้าง rhodopsin ซึ่งเป็นสารที่ไวต่อแสงที่พบในเซลล์รูปแท่งของเรตินา

นอกจากนี้บิลเบอร์รี่ยังมีเควอซิทิน ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดต้อกระจกจากโรคเบาหวาน งานวิจัยจากอเมริกาพบว่าการเสริมแคปซูลบิลเบอร์รี่ 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 1 เดือน ในผู้ป่วยตาแห้ง 30 คน ช่วยทำให้อาการดีขึ้น การรับประทานบิลเบอร์รี่ค่อนข้างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม บิลเบอร์รี่ทำให้เลือดไหลออกง่ายขึ้น ผู้ที่ได้รับยายับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดหรือวาร์ฟาริน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสริมบิลเบอร์รี่ อีกทั้งใบบิลเบอร์รี่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดจึงควรระวัง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเวลาเสริมบิลเบอร์รี่

• ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ซึ่งพบในมะเขือเทศ แครอท และเป็นส่วนประกอบของเม็ดสีมาคูลาร์บริเวณเรตินา ซึ่งมีหน้าที่ช่วยปกป้องเรตินาไม่ให้ถูกทำลายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่มาจากแสง การทดลองในสัตว์ทดลองและการศึกษาทางระบาดวิทยาในคนแสดงให้เห็นว่า ลูทีนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดจอตาเสื่อม การเสริมลูทีนโดยการรับประทานสามารถเพิ่มความหนาแน่นของเม็ดสีในเรตินาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• แอสตาแซนธิน เป็นแคโรทีนอยด์สีแดงที่พบในสาหร่ายบางชนิด และเป็นสาเหตุของสีแดงในเนื้อสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลาแซลมอน สารชนิดนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพชนิดหนึ่ง

 

นักวิทยาศาสตร์ชาวตุรกีได้แบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับแอสตาแซนธินและกลุ่มควบคุม จากนั้นทำให้ความดันในลูกตาหนูทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้น ผลปรากฏว่าการที่หนูได้รับแอสตาแซนธินก่อนมีความดันในลูกตาเพิ่ม ช่วยรักษาโปรตีนบริเวณเรตินาไม่ให้ถูกทำลาย และลดการตายของเซลล์จากความดันที่เพิ่มขึ้น

• วิตามินอี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายคู่กับวิตามินซี การศึกษาในสเปนได้เปรียบเทียบผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมจำนวน 25 คน กับผู้ที่ไม่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมจำนวน 15 คน พบว่าผู้ที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมมีระดับสังกะสีและวิตามินอีในเลือดต่ำกว่า แต่ได้รับแสงแดดมากกว่าผู้ที่ไม่มีอาการ นอกจากนี้ ระดับวิตามินอีในเลือดต่ำเท่าไหร่ ความรุนแรงของอาการจอประสาทตาเสื่อมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

 

จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตน และอาหาร จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อ “ดวงตาสดใส โลกสดสวย” ทุกท่านจึงควรใส่ใจเรื่องเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ และหากสายตามีการเปลี่ยนแปลง ให้รีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที

 

ที่มา : health.haijai