การมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการทำงานเป็นสิ่งดี แต่ถ้าทำให้ถึงกับเครียดจนเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งสมควร เพราะเมื่อเกิดความเครียดขึ้นแล้ว นอกจากจะทำให้ไม่ได้งานดีอย่างที่ตั้งใจไว้ ยังส่งผลเสียด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ทำให้เสียความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทั้งผู้ร่วมงานและคนในครอบครัว ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข ดังนั้น การรู้จักผ่อนคลายความเครียดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยคลายเครียดและเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ทำให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้นด้วย
กรมสุขภาพจิตจึงขอนำเสนอวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดในการทำงาน 10 วิธี ดังต่อไปนี้ คือ
1.ออกกำลังกาย
เมื่อรู้สึกเครียดจากการทำงาน การออกกำลังกายจนได้เหงื่อจะช่วยคลายเครียดได้ หลังเลิกงานหรือในวันหยุดควรออกกำลังกายหรือกีฬาบ้าง และถ้าได้เล่นกับกลุ่มเพื่อนจะยิ่งสุกสนานมากขึ้น และการช่วยกันทำงานบ้านในวันหยุด ก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีและยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกรักใคร่สามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วย
2.การพักผ่อนหย่อนใจ
หลังเลิกงานแล้วควรจะได้พักผ่อนหย่อนใจบ้างเพื่อผ่อนคลายจิตใจ ทำให้พร้อมที่จะกลับไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง กิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจมีอยู่มากมาย ควรเลือกที่ตรงข้ามกับงานประจำ เช่น งานประจำต้องนั่งโต๊ะทั้งวัน ยามว่างควรทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือถ้างานประจำต้องให้บริการผู้อื่น ยามว่างควรไปให้ผู้อื่นบริการบ้าง เพื่อให้ชีวิตสมดุลและผ่อนคลาย
3.การพูดอย่างสร้างสรรค์
การพูดอย่างสร้างสรรค์จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ควรหมั่นพูดคำว่า สวัสดี ไม่เป็นไร ขอโทษ และขอบคุณให้ติดปาก เพราะจะแสดงถึงความมีมารยาท มีน้ำใจ ให้อภัย และรู้คุณค่าการกระทำของผู้อื่นซึ่งเป็นเสน่ห์แก่ผู้พูด และผู้ฟังก็สบายใจด้วย ควรหมั่นพูดชมเชย ให้กำลังใจ ไต่ถามทุกข์สุข ปลุกปลอบใจ และประสานความเข้าใจกัน บางเรื่องไม่ควรพูดก็อย่าพูด จะช่วยตัดปัญหาและลดความเครียดลงได้มาก
4.การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม
การเก็บกดอารมณ์ที่ไม่ดี หรือแสดงอารมณ์ที่ไม่ดี จะทำให้เกิดความเครียด ควรฝึกควบคุมอารมณ์ คิดก่อนทำ และทำอย่างเหมาะสม จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์และไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา เมื่ออารมณ์ดี ควรยิ้มแย้มทักทาย พูดเล่น ฮัมเพลง จะทำให้ผู้ใกล้ชิด พลอยรู้สึกดีตามไปด้วย เมื่ออารมณ์ไม่ดี อย่าเพิ่งพูดหรือทำอะไรลงไป เพราะอาจเสียใจภายหลัง ให้หลบออกจากสถานการณ์สักพัก หรือหายใจเข้าออกช้า ๆ สัก 4-5 ครั้ง หรือนับ 1-10 ในใจก็ได้ พยายามคิดถึงผลเสียที่จะเกิดตามมา จะทำให้มีสติและแสดงออกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้นและเครียดน้อยลง
5.การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน
การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน จะช่วยให้รู้สึกมีความสุขในการทำงานและช่วยให้ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพเพราะมีผู้คอยให้กำลังใจ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานสามารถทำได้โดยการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราอยู่เสมอ อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไรก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้นกับผู้อื่นเช่นกัน
6.การบริหารเวลา
การบริหารเวลาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีเวลาเหลือเพียงพอสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจส่วนตัว และมีเวลาให้ครอบครัวอย่างเพียงพอ ทำให้เครียดน้อยลง ควรทบทวนดูว่าในแต่ละวันได้ใช้เวลาไปกับเรื่องใดบ้าง เสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจัดแบ่งเวลาเสียใหม่ รีบทำงานสำคัญและเร่งด่วนให้เสร็จก่อน แล้วจึงทำงานอื่นภายหลัง ลดการคุยเล่น เดินไปเดินมา กินขนม ฯลฯ ให้น้อยลง ก็จะประหยัดเวลาและได้งานมากขึ้น ลองสังเกตเพื่อนร่วมงานที่บริหารเวลาได้ดี แล้วลองทำดูบ้าง อาจช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
7.การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี
ในการทำงานย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าแก้ปัญหาอย่างใช้อารมณ์ ไม่มีเหตุผลจะทำให้เครียดมาก เพราะบางทีปัญหาเก่าก็ยังแก้ไม่ได้ แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาที่สาเหตุ หาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ แล้วแก้ตรงนั้น ถ้าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็ต้องแก้ที่ตัวเราด้วย ถ้าคิดแก้ปัญหาเองไม่ได้ ก็ไม่ควรอาย หรือกลัวว่าจะเสียหน้าที่จะปรึกษาหารือและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เมื่อรู้วิธีแก้ไขปัญหาแล้วก็ควรลงมือทำทันที บางปัญหาอาจแก้ยาก ก็ให้อดทน อย่าท้อแท้ เพราะเมื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จก็จะภูมิใจและหายเครียดไปเอง
8.การปรับเปลี่ยนความคิด
ความเครียดส่วนหนึ่งจะมาจากความคิดของคนเรานั่นเอง ถ้ารู้สึกว่าตัวเองคิดมาก คิดสับสนวนเวียนหาทางออกไม่ได้ ควรหยุดคิดสักพัก เปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่นก่อน เมื่อรู้สึกดีขึ้นค่อยกลับมาคิดใหม่ ลองปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เช่น คิดอย่างใช้เหตุผล คิดหลาย ๆ แง่มุม ลองคิดอย่างที่คนอื่นเขาคิด คิดเรื่องดี ๆ และคิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าเอาแต่หมกมุ่นกับตัวเองมากเกินไป การคิดแบบใหม่ ๆ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นและหายเครียดได้
9.การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ
"จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" จิตใจที่เข้มแข็งจะช่วยให้เอาชนะความเครียดได้ การสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ทำได้โดยการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอว่า "เราต้องทำได้" ต้องเข้าใจชีวิตให้ถ่องแท้ว่าไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรยั่งยืน จะได้ไม่ยึดติดกับลาภ ยศ สรรเสริญ และต้องใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด ไม่ติดอยู่กับอดีตหรือวิตกกังวลกับอนาคตให้มากเกินไป อย่าลืมที่จะสร้างความอบอุ่นในครอบครัว จะเป็นกำลังใจช่วยให้เราต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคได้อย่างดีที่สุด
10.การรู้จักยืนยันสิทธิ์ของตน
ความเครียดอาจเกิดได้จากการยอมอ่อนข้อหรือเกรงใจผู้อื่นมากเกินไปจนทำให้ตัวเองเดือดร้อน หากรู้จักยืนยันสิทธิของตนเสียบ้าง จะช่วยให้เป็นที่เกรงใจของผู้อื่นมากขึ้นและเครียดน้อยลง สิทธิ์ที่ควรยืนยัน ได้แก่ สิทธิ์ที่จะทำงานเร่งด่วนของตนเองให้เสร็จก่อน สิทธิ์ที่จะไต่ถามเพราะไม่รู้หรือไม่เข้าใจ สิทธิ์ที่จะเลือกทำสิ่งที่ตนเองพอใจโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สิทธิ์ที่จะเปลี่ยนใจเมื่อได้ข้อมูลใหม่ และสิทธิ์ที่จะชี้แจงเมื่อถูกเข้าใจผิด
ที่มา : men.sanook