ประจำเดือนมาผิดปกติ มีหลากหลายอาการ ทว่าประจำเดือนมาเป็นลิ่มนั้นเรียกว่าผิดปกติหรือเปล่า อันตรายหรือไม่ สาว ๆ มาเช็กซะดี ๆ
เรื่องของประจำเดือนเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนหนีไม่พ้น และต้องให้ความสนใจไม่แพ้กับอาการทางสุขภาพอื่น ๆ เพราะเลือดประจำเดือนที่ออกมานั้นสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของคุณผู้หญิงได้ดีพอสมควร แถมยังอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคสตรีบางอย่างได้ เช่น ประจำเดือนเป็นลิ่ม ที่สาว ๆ เห็นทีไรก็รู้สึกไม่สบายใจ และทำให้กังวลไปกันใหญ่ว่านี่อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติของร่างกาย คิดกันแบบนี้แล้วความจริงเป็นอย่างที่คิดหรือเปล่านะ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน ตกลงว่าประจำเดือนเป็นลิ่มเลือด จะอันตรายไหม แล้วเกิดจากอะไรกันแน่ล่ะ
ประจำเดือนเป็นลิ่มเลือด เกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่ ?
ลิ่มเลือดประจำเดือน เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถขับเลือดประจำเดือนออกมาได้ทัน ทำให้เลือดประจำเดือนค้างสะสมอยู่ในช่องคลอด ปกติแล้วจะพบได้ไม่บ่อยนัก ยกเว้นในช่วงที่ประจำเดือนมามากกว่าปกติ อาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ ในกรณีนี้ถือว่าไม่ผิดปกติค่ะ และสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ทั้งนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดประจำเดือนเป็นลิ่มได้อีก ซึ่งก็มีดังนี้ค่ะ
การขาดธาตุเหล็ก
การขาดธาตุเหล็กเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เลือดแข็งตัวจนเป็นลิ่ม ซึ่งการขาดธาตุเหล็กเป็นอาการปกติของผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือน แต่ภาวะนี้อาจจะเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อความแน่ใจควรไปตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินในเลือดจะดีกว่า แต่ถ้าไม่ได้เป็นโรคโลหิตจาง ก็แค่เพียงรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ถั่วเปลือกแข็ง เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ให้เพียงพอต่อร่างกายเท่านั้นเอง
สัญญาณของอาการเนื้องอกในมดลูก
บางครั้งสาเหตุที่ประจำเดือนมามากกว่าปกติจนทำให้ประจำเดือนออกมาเป็นลิ่มเลือดก็อาจจะมาจากเนื้องอกภายในมดลูกได้เช่นกัน แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากไปนะ เพราะส่วนใหญ่สาว ๆ จะแค่มีประจำเดือนมากกว่าปกติเท่านั้น ซึ่งก็ไม่อันตรายมากนัก ส่วนความเสี่ยงอาการเนื้องอกในมดลูกพบได้ไม่บ่อยเท่าไรค่ะ แต่หากไม่สบายใจจะไปตรวจภายในกับแพทย์อีกทีก็ได้
ผลข้างเคียงจากการรักษา
การรักษาด้วยการใช้ยาบางชนิด อาทิ ยาสเตียรอยด์ สามารถส่งผลข้างเคียงทำให้ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง อันเป็นสาเหตุทำให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้นและประจำเดือนมามากได้ แต่ไม่ต้องกังวลไป อาการเหล่านี้จะบรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง
อาการของโรค PCOS
โรค PCOS หรือโรครังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (Polycystic ovary syndrome-PCOS) เป็นความผิดปกติที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายสาว ๆ แปรปรวน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประจำเดือนของผู้หญิงด้วย เช่น ประจำเดือนมามากกว่าปกติและนานกว่า อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะประจำเดือนเป็นลิ่มได้ง่าย
ผลกระทบจากการแท้ง
สำหรับคุณผู้หญิงที่เคยประสบกับการแท้งบุตร ในช่วงแรก ๆ หลังจากแท้งก็อาจจะทำให้เกิดภาวะประจำเดือนเป็นลิ่มเลือดได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องสังเกตให้ดีด้วย หากประจำเดือนมามากผิดปกติและติดต่อกันเป็นเวลานานก็ควรไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยค่ะ
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
อาการนี้ไม่เพียงแต่ทำให้คุณสาว ๆ ปวดประจำเดือนมากจนทนแทบไม่ได้ แต่ยังทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติอีกด้วย โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี หรือในวัยใกล้หมดประจำเดือน ส่งผลให้เลือดประจำเดือนเกิดการคั่งค้างสะสมอยู่ในช่องคลอดและเกาะตัวกันเป็นลิ่มเลือดนั่นเอง
เข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน
ก่อนที่จะถึงวัยหมดประจำเดือนประมาณ 1 ปี คุณผู้หญิงจะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ที่แสดงออกว่าประจำเดือนใกล้หมด อาทิ อาการวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน ช่องคลอดแห้ง รวมทั้งประจำเดือนเป็นลิ่มก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงในวัยนี้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงส่งท้ายของการมีประจำเดือนเลยล่ะ แต่ทั้งนี้ก็ควรสังเกตควบคู่ไปกับอาการวัยหมดประจำเดือนอื่น ๆ ถ้าพิจารณาแล้วคิดว่าไม่น่าจะใช่อาการปกติ ก็รีบนัดแพทย์เลย
ประจำเดือนเป็นลิ่มสีน้ำตาล น่ากังวลหรือเปล่านะ ?
หากคุณสาว ๆ พบว่ามีลิ่มเลือดประจำเดือนเป็นสีน้ำตาลออกมาในช่วงวันใกล้หมดประจำเดือนแล้วละก็ ขอบอกเลยว่าไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะลิ่มเลือดที่ออกมานั้นอาจจะเป็นเลือดที่ตกค้างอยู่ในช่องคลอดในช่วงที่มีประจำเดือน และถูกขับออกมาในภายหลัง จึงทำให้มีสีแตกต่างจากประจำเดือนปกติ
เมื่อใดจึงเรียกว่าประจำเดือนผิดปกติ ?
ประจำเดือนเป็นลิ่มเป็นอาการปกติที่พบได้ในผู้หญิงทุกคนก็จริง แต่ถ้าหากลิ่มเลือดนั้นมีขนาดใหญ่ และเป็นติดต่อกันทุกเดือนจนผิดสังเกต หรือมีสีและกลิ่นที่ผิดแปลกไปจากเดิม นั่นอาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
เห็นไหมล่ะคะว่าประจำเดือนเป็นลิ่มนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่น่ากังวลจนเกินไป แต่ทั้งนี้คุณสาว ๆ เองก็ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ยิ่งถ้าหากคนที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคสตรีด้วยละก็ ไม่ควรจะละเลยเป็นอันขาด กันไว้ดีกว่าแก้ยังไงก็ดีกว่าเสมอแหละเนอะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
newhealthguide.org
webmd.com
mygynecologist.net