วิกฤตวัยกลางคน (midlife crisis) คือ การที่ผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 35-50 ปี มีการคิดทบทวนหรือประเมินชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง การคิดทบทวนนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการตระหนักได้ว่า ชีวิตนี้เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว หรือเราควรจะประสบความสำเร็จ (หรือ มีความสุข) ได้แล้ว โดยวิกฤตวัยกลางคนนี้ ไม่ใช่โรค และไม่ใช่ความผิดปกติทางการแพทย์ แต่เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ที่พบได้ในคนทั่วไป ในคนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจตัดสินใจทำอะไรรุนแรง โดยไม่ไตร่ตรอง เช่น หย่า ลาออกจากงาน เป็นต้น ในคนที่เป็นมากอาจจะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

 

วิกฤตวัยกลางคนหรือที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า “midlife crisis” คืออะไร? หากจะพูดแบบขำๆ หลายคนมักนึกถึงการที่ผู้ใหญ่วัยกลางคนเกิดลุกมาทำอะไรบ้าๆ แบบไม่คาดฝัน เช่น หย่ากับภรรยา มีเมียน้อย ลาออกจากงาน ประจำไปเปิดร้านกาแฟ หรือเอาเงินเก็บทั้งหมดไปซื้อรถสปอร์ตสีแดง เป็นต้น

 

วิกฤตวัยกลางคนคืออะไร?

วิกฤตวัยกลางคน คือ การที่ผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 35-50 ปี เกิดคิดทบทวนหรือประเมินชีวิตตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน ชีวิตคู่ ความสุขในชีวิต หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งการคิดทบทวนนี้มักถูกกระตุ้นมาจากการตระหนักว่า ชีวิตนี้เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว และเราควรจะประสบความสำเร็จ (หรือมีความสุข) ได้แล้ว

 

สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ วิกฤตวัยกลางคนนั้นไม่ใช่โรค และไม่ใช่ความผิดปกติทางการแพทย์ แต่เป็นปรากฏการณ์ปกติทางจิตวิทยาที่พบได้ในคนวัยนี้ โดยนักวิชาการส่วนหนึ่งก็ใช้คำว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยกลางคน” (midlife transition)O แทนคำว่า “วิกฤตวัยกลางคน” เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการระดับที่ควรจะเรียกว่า “วิกฤต” แต่อย่างใด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่อาจทำอะไรหุนหันพลันแล่นจนสร้างปัญหาให้กับชีวิตหรือเกิดโรคซึมเศร้า

 

เพราะอะไรชีวิตถึงมาวิกฤตกันช่วงอายุนี้

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากพบว่าในช่วงอายุ 35-50 ปีนี้ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเข้ามาในชีวิต ได้แก่

• การเสื่อมของร่างกาย ในวัยนี้ร่างกายจะเริ่มเสื่อมลงไม่แข็งแรงเท่ากับตอนวัยรุ่น และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง หลายคนรู้สึกได้เลยว่า ตัวเองไม่ฟิตเท่าเดิม เริ่มอ้วน หัวเริ่มล้าน เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นช่วงอายุที่เริ่มมีโรคประจำตัวมากขึ้น

• ฮอร์โมนเปลี่ยน โดยในผู้หญิงจะเห็นได้ชัดเจนกว่าผู้ชาย ผู้หญิงหลายคนในวันนี้ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน ทำให้มีอาการของคนที่กำลังจะเข้าวัยทอง (perimenopausal syndrome)

• ต้องการความสำเร็จ ในวัยผู้ใหญ่สิ่งสำคัญในชีวิต นอกจากชีวิตครอบครัว ก็คือเรื่องของการทำงาน ซึ่งในคนส่วนใหญ่ตอนอายุยี่สิบต้นๆ จะเป็นช่วงที่พึ่งเริ่มทำงาน ยังเรียนรู้ลองผิดลองถูก มักไม่ได้จริงจังมากในเรื่องความสำเร็จก้าวหน้า แต่ในวัยที่เกิน 35 ปี ซึ่งทำงานมาแล้วเป็นสิบปี คนส่วนใหญ่จึงต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

• ตระหนักได้ว่าเวลาของเราเหลืออีกไม่มาก ช่วงนี้หลายคนจะเริ่มรู้สึกว่า “เฮ้ย เราเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วนะ” “อีกสิบกว่าปีก็เกษียณแล้ว” (หรือ “อีกสิบกว่าปี ก็อาจจะตายแล้ว”) เราควรจะต้อง “ทำอะไร” แล้ว

• การสูญเสียของคนใกล้ชิด ช่วงอายุนี้มักพบเหตุการณ์ที่คนใกล้ชิดเสียชีวิตได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือเพื่อนฝูง

 

สังเกตอย่างไรว่าเรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤตวัยกลางคน

อาการเด่นก็คือ ความคิดที่สับสนกับชีวิต รู้สึกไม่พอใจในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ชีวิตคู่ ที่อยู่อาศัย หรือสุขภาพ และตามมาด้วยความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงในด้านของอารมณ์ที่พบได้บ่อย ก็จะเป็นอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า โดยในคนที่เป็นมากมักจะแสดงออกให้เห็นชัด ผ่านการกระทำที่รุนแรง และกะทันหัน เช่น มีความคิดว่างานที่ทำอยู่ช่างไม่มีความสุขเอาซะเลย! ว่าแล้วก็ลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านกาแฟ คิดว่าคู่ชีวิตของเราตอนนี้ “มันไม่ใช่อ่ะ!!” แล้วก็ขอหย่ากับภรรยา หรือคิดว่าบ้านที่อยู่ตอนนี้ “มันไม่เวิร์คเอาซะเลย!!” แล้วก็ทุ่มเงินซื้อบ้านใหม่ เป็นต้น

 

รังที่ว่างเปล่า (Empty-nest syndrome)

มีอีกคำที่มักถูกพูดถึงในช่วงวิกฤตวัยกลางคนก็คือ “Empty-nest syndrome” หรือที่ผมขอแปลเองว่า “รังที่ว่างเปล่า” (หรือ “รังไร้นก”) ซึ่งเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง ที่พบได้ในช่วงอายุนี้ ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อลูกๆ ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะไปเรียน แต่งงาน หรือทำงานที่อื่น ทำให้พ่อหรือแม่เกิดความรู้สึกเหงา หรือเศร้า ซึ่งภาวะนี้มักเป็นมากในผู้ที่มีหน้าที่หลักคือการดูแลลูก ผูกพันติดกับลูกมาก หรือในคู่ที่ยังยอมคงชีวิตคู่ไว้ เพราะ “อยู่เพื่อลูก” (หมายถึงการที่สามีภรรยาที่ทะเลาะกันและใจจริงอยากที่จะหย่า แต่ทนอยู่ด้วยกันเพื่อลูก) การที่ลูกออกจากบ้านไป จะทำให้เกิดความเหงา เศร้า ไม่รู้จะทำอะไร รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ทำให้คนที่ปรับตัวไม่ได้ อาจเกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

 

แนวทางการจัดการกับวิกฤตวัยกลางคน

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า วิกฤตวัยกลางคนคืออะไรแล้ว คราวนี้มาดูกันครับว่า เราจะมีแนวทางป้องกันแก้ไขอย่างไร ไม่ให้มันกลายเป็น “วิกฤตในชีวิต” ไปจริงๆ

• เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญแรกสุดคือ เราต้องเข้าใจภาวะนี้ก่อนว่าคืออะไร เมื่อรู้จักก็จะช่วยให้เรารู้ตัวและนำไปสู่การจัดการแก้ไขได้อย่างเหมาะสมต่อไป

• ปรึกษาผู้อื่นเสมอในเรื่องที่สำคัญ ที่จริงการคิดทบทวนประเมินชีวิตของตัวเอง และอยากที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร บางครั้งอาจเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ แต่ที่มักทำให้เกิดปัญหาคือการตัดสินใจอย่างหุนหัน ในเรื่องที่สำคัญจนเกิดความเสียหายตามมา ดังนั้น ทุกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชีวิต เช่น หย่า ลาออก ใช้เงินจำนวนมาก ควรต้องให้เวลาในการคิดไตร่ตรองอย่างรอบครอบ และปรึกษาผู้อื่นเสมอ การได้พูดคุยกับคนอื่น (ที่สามารถให้คำปรึกษาได้) จะช่วยให้เรามองเห็นว่า สิ่งที่เราจะทำมันสมเหตุสมผลแค่ไหน เพื่อที่จะลดโอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด

• ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้สุขภาพแข็งแรง และป้องกันการเป็นโรคซึมเศร้าได้ ยิ่งวัยนี้เป็นวัยที่ ตามธรรมชาติสุขภาพจะเริ่มเสื่อมลง และเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย การออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก

• หากิจกรรมทำทดแทน เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในกรณี “รังที่ว่างเปล่า” เพราะนั่นคือการที่เราเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่ทำงาน “ดูแลลูก” กลายเป็นผู้ “ว่างงาน” ลูกไม่อยู่ให้ดูแลแล้ว ดังนั้น จึงต้องหากิจกรรมอื่นทำทดแทนงานเดิม เพื่อไม่ให้เบื่อและเศร้า โดยกิจกรรมนั้นอาจจะเป็นการออกกำลังกาย การไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง การเข้าร่วมชมรมต่างๆ หรือทำงานการกุศล เป็นต้น

 

- วิกฤตวัยกลางคน หรือการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยกลางคน เป็นภาวะปกติที่พบได้ในคนวัยผู้ใหญ่ทั่วไป การเข้าใจถึงสภาวะนี้และวิธีปฏิบัติตัวจะช่วยให้ “วิกฤตวัยกลางคน” ไม่กลายเป็น “วิกฤต” จริงๆ และทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขสืบเนื่องต่อไป -

 

 

 

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ

จิตแพทย์