อาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ ห้ามตัวเองไม่ให้ซื้อของออนไลน์ไม่ได้ เงินก็หมดไปจนชีวิตเกือบพัง ระวังจะป่วยเป็น Online Shopping Addiction
ยิ่งมีความสะดวกสบายก็ยิ่งพลาดพลั้งกันง่ายขึ้นว่าไหมคะ อย่างการซื้อของออนไลน์ที่ทำการซื้อ-ขายกันได้ง่าย ๆ ผ่านโลกโซเชียลหรือเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต เพียงคลิกเดียวก็เลือกซื้อสินค้าได้ดังใจ ทำให้หลายคนรู้สึกติดใจกับการช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาออกไปข้างนอกให้เหนื่อย
ทว่าความสะดวกสบายตรงจุดนี้ก็อาจเป็นโอกาสให้เกิดอาการผิดปกติกับคนที่ชอบซื้อของออนไลน์ได้ โดยเฉพาะคนที่หักห้ามใจไม่ให้เปิดดูร้านค้าออนไลน์ และไม่สามารถบังคับใจตัวเองให้ไม่คลิกซื้อสินค้าและชำระเงินค่าสินค้าเกือบจะทุกที ลองมาเช็กกันสักนิดว่าคุณมีอาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ ป่วยเป็น Online Shopping Addiction อยู่หรือเปล่า
อาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ (Online Shopping Addiction) คืออะไร ?
เชื่อว่าหลายคนเคยซื้อของออนไลน์กันมาแล้ว หรือบางคนอาจมีพฤติกรรมชอบเปิดดูสินค้าออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะกับเพศหญิงที่มีใจรักในการช้อปปิ้งเป็นทุนเดิม แต่สำหรับอาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ที่ว่านี้ จะเรียกได้ว่าเป็นอาการติดช้อปปิ้งหรือช้อปอะฮอลิค (Shopaholic) ในยุคดิจิตอลก็ได้ เนื่องจากผู้ที่มีอาการติดช้อปออนไลน์จะมีพฤติกรรมหมกมุ่นกับการซื้อของออนไลน์อย่างหนัก ชนิดที่นั่งช้อปอยู่หน้าจอได้หลายชั่วโมงติดต่อกัน และเผลอคลิกซื้อสินค้าไปอย่างยั้งใจไม่ได้ มีความสุขชั่วแวบอยู่กับการเลือกซื้อสินค้า แต่มารู้ตัวอีกทีก็ได้สินค้ามากองอยู่ตรงหน้าในจำนวนที่มากเกินความจำเป็น หรือมีปัญหาทางการเงินจนเป็นหนี้เป็นสิน และทำให้เกิดความรู้สึกผิดหรือเสียใจกับพฤติกรรมติดช้อปปิ้งออนไลน์ของตัวเอง
อาการติดช้อปปิ้งออนไลน์มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง
จิตแพทย์สันนิษฐานว่า อาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ (Online Shopping Addiction) อาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตด้านอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลในตัวเอง มีความไม่มั่นใจในตัวเอง หรือรู้สึกมีปมด้อย มีความเครียด ความกดดัน จากสภาวะแวดล้อมรอบ ๆ ตัว
นอกจากนี้ผลการศึกษาในวารสาร PLOS ONE ยังระบุว่า นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยายังคงทำการศึกษาว่าอาการติดช้อปปิ้งออนไลน์จะเกี่ยวข้องกับภาวะของโรคยั้งใจไม่ได้ (impulse control disorders) หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorders) ด้วยหรือไม่ ทว่าหากมีอาการติดช้อปปิ้งออนไลน์หนักมาก โดยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้ซื้อของออนไลน์ได้ ก็แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์วินิจฉัยจะดีกว่า
อาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ ช้อปแบบไหนถึงเรียกว่าเสี่ยง
แม้ว่าคุณจะชอบซื้อของออนไลน์อยู่บ่อย ๆ แต่ก็อาจไม่ได้มีอาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ก็ได้นะคะ เว้นเสียแต่ว่าพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ของคุณจะเป็นไปในลักษณะด้านล่างนี้หลาย ๆ ข้อ ก็อาจพอเดา ๆ ได้ว่ากำลังป่วยเป็น Online Shopping Addiction
1. หมกมุ่นกับการซื้อของออนไลน์ และมักจะเผลอช้อปปิ้งโดยบังคับตัวเองไม่ได้อยู่บ่อยครั้ง
2. มักจะซื้อของออนไลน์มาเพื่อสนองความสุขให้ตัวเอง บ่อยครั้งที่ใช้การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นวิธีคลายเครียด
3. รู้สึกเหมือนหยุดช้อปปิ้งออนไลน์ไม่ได้ แม้จะเคยลองพยายามห้ามใจแล้วก็ตาม
4. สั่งซื้อของออนไลน์ประเภทเดิม ๆ หรือซื้อซ้ำบ่อยมาก
5. ซื้อของออนไลน์ทั้ง ๆ ที่ไม่คิดจะใช้ หรือเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งาน
6. ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บ
7. รู้สึกอยากช้อปปิ้งออนไลน์ตลอดเวลา แม้แต่ในขณะเรียนหรือทำงานก็อาจแอบหลบมาช้อปออนไลน์
8. สามารถนั่งช้อปปิ้งออนไลน์ได้นานเกิน 3 ชั่วโมงต่อครั้ง
9. เสียเวลาไปกับการเลือกชมและซื้อของออนไลน์มากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ
10. ถ้าเกิดปัญหาหรืออุปสรรคให้ช้อปปิ้งออนไลน์ไม่ได้จะหงุดหงิดมาก
11. มีพฤติกรรมแอบซื้อของออนไลน์ หรือซื้อมาแล้วก็เอาสินค้าไปซ่อนไม่ให้ใครเห็น
12. รู้สึกมีความสุขเมื่อได้ช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ความสุขนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ได้ซื้อเท่านั้น แต่หลังจากซื้อและได้สินค้ามาแล้วมักจะรู้สึกผิด
13. สั่งซื้อของออนไลน์โดยไม่สนใจว่าเงินจะมีหรือไม่มี หากเงินไม่พอก็พร้อมจะกู้หนี้ยืมสิน
14. อารมณ์ปรวนแปรหนักมาก เช่น มีความดีใจที่ได้ช้อปออนไลน์ แต่หลังจากซื้อสินค้าไปแล้วก็อาจร้องไห้ฟูมฟายด้วยความเสียใจ
15. การช้อปปิ้งออนไลน์ทำให้เกิดปัญหากับคนรอบข้าง ทั้งเพื่อน คนรัก และครอบครัว
อาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ รักษาได้ไหม
ถ้าเช็กอาการแล้วอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ในเบื้องต้นก็อาจบำบัดด้วยตัวเองดูก่อน โดยหาเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนให้บ่อยขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวพร้อมกับอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ รวมทั้งหันไปทำกิจกรรมที่ชอบอื่น ๆ หรือทางที่ดีก็พยายามอยู่ห่างจากบัตรเครดิตไว้
แต่หากลองรักษาอาการติดช้อปปิ้งออนไลน์แล้วยังไม่หาย แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งจิตแพทย์ก็อาจรักษาอาการติดช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยวิธี Cognitive Behavior Therapy (CBT) ที่นิยมใช้รักษาคนมีอาการวิตกกังวล หรือคนที่มีอาการติดอะไรบางอย่างชนิดฝังจิตฝังใจ โดยการค่อย ๆ พูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยได้ปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงความเชื่อเฉพาะตัวทีละเล็กละน้อย
อย่างไรก็ดี หากเช็กอาการแล้วไม่พบว่าตัวเองมีความเสี่ยง ก็อย่าชะล่าใจและมัวเพลิดเพลินกับการซื้อของออนไลน์มากจนเกินไปนะคะ เดินทางสายกลางไม่มากไม่น้อยไปจะดีกว่า ส่วนคนที่อยู่ในข่ายติดช้อปปิ้งออนไลน์ขั้นหนัก ถ้าไม่อยากชีวิตพัง ก็แนะนำให้รีบเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
addictions
psychalive
psychologytoday