ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
http://www.thaihealth.or.th/
ผู้ที่เป็น “โรคกระดูกพรุน” จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ “กระดูกหัก” ยิ่งเป็นในช่วงระยะหนักมากๆ บางครั้งเพียงแค่ไอหรือจามเบาๆ ก็ทำให้กระดูกซี่โครงหักได้
ปัจจุบันการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีสถิติเพิ่มมากขึ้นในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราหันมาดูแลใส่ใจและรักษา “สุขภาพ” กันมากกว่าเดิม แต่มีอยู่โรคหนึ่งที่เรามักมองข้าม หรือบางคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่า
โรคนี้ร้ายแรงติดอันดับ 1 ใน 10 ที่คร่าชีวิตคนไทย...นั่นคือ “โรคกระดูกพรุน” เพราะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆ กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ให้ความรู้ว่า “โรคกระดูกพรุน” เป็นโรคที่กระทบต่อร่างกายอย่างช้าๆ จึงเป็นภัยเงียบที่ค่อยๆ ลุกลาม ถ้าหากใครไม่ใส่ใจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียดจริงๆ จะไม่ทราบเลยว่าเป็นโรคนี้อยู่ ยิ่งปัจจุบันการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การนั่งจ้องหน้าคอมฯ เป็นเวลานานๆ ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น ที่สำคัญสามารถเกิดได้ทุกเพศ โดยมักเป็นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
“โรคกระดูกพรุน” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “ออสทีโอพอรอสิส” (Osteoporosis) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระดูกที่เกิดเนื่องจากมีความไม่สมดุลในกระบวนการผลัดผิวกระดูก โดยเซลล์สลายกระดูกทำงานมากกว่าเซลล์สร้างกระดูก ทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง เนื้อกระดูกบางลง มีความแข็งแรงน้อยลง และเปราะบางเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ คือ เนื่องจากมันไม่มีอาการใดๆ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็น “โรคกระดูกพรุน” ก็ต่อเมื่อมีกระดูกหักหลังจากเกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม ตกบันได ตกจากเก้าอี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีการไอหรือจามอย่างรุนแรงก็อาจทำให้กระดูกซี่โครงหักได้
ผู้ที่เป็น “โรคกระดูกพรุน” จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ “กระดูกหัก” ยิ่งเป็นในช่วงระยะหนักมากๆ บางครั้งเพียงแค่ไอหรือจามเบาๆ ก็ทำให้กระดูกซี่โครงหักได้ การเดินลื่นหกล้มแม้จะยั้งตัวได้โดยที่ศีรษะไม่ฟาดพื้นก็อาจเกิดกระดูกข้อมือหักจากการใช้มือยันตัวไว้ ตำแหน่งของกระดูกที่หักส่วนใหญ่จะเป็นที่กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง เมื่อหกล้มเราก็จะเอามือยันพื้นไว้เพื่อประคองตัว แต่ด้วยความที่เนื้อกระดูกบางลง จึงไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้เต็มที่
เหมือนตอนหนุ่มสาวจึงทำให้หัก เมื่อกระดูกข้อมือหักก็ใช้มือข้างนั้นหยิบจับอะไรไม่ได้ ในระหว่างที่เข้าเฝือก หากมีการลื่นล้มหรือตกบันไดหรือตกจากเก้าอี้ ก้นก็จะกระแทกพื้น ทำให้เดินไม่ได้ในระหว่างการรักษาและต้องนอนติดเตียง ซึ่งอาจเกิดแผลกดทับหรือโรคอื่นๆ ตามมาหากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ
ดังนั้นวิธีลดปัจจัยเสี่ยงและชะลอ “โรคกระดูกพรุน” โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบดื่มนม หรือแพ้นมจะมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า แต่สามารถป้องกันได้ ด้วยการทานผักผลไม้ที่มีแคลเซียมสูงหรือแคลเซียมอัดเม็ดแทน การกินแคลเซียมให้เพียงพอ คือประมาณวันละ 1,000 มิลลิกรัม แต่ผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือน (อายุ 50 - 55 ปี) ควรทานวันละ 1,500 มิลลิกรัม หาได้จากอาหาร เช่น นม ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งแห้ง กุ้งฝอย กะปิ เต้าหู้เหลือง หรือแคลเซียมอัดเม็ด
นอกจากอาหารแล้วการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง เดินเร็วๆ ที่มีการลงน้ำหนักบนกระดูก (ไม่วิ่งจ๊อกกิ้ง ไม่วิ่งบนพื้นปูนหรือซีเมนต์ และไม่เดินทอดน่อง) ยกน้ำหนัก ลีลาศ และฝึกการทรงตัว เช่น ยืนขาข้างเดียว และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีค่าดัชนีมวลกาย ระหว่าง 18-23 (นำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง)