ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

http://www.thaihealth.or.th/

 

กระแส “การวิ่ง” เพื่อสุขภาพ กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก และมีทีท่าว่าจะฮอตฮิตไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะใน “สังคมเมืองกรุง” ที่ตอนนี้ทั้งธุรกิจเอกชน และหน่วยงานรัฐต่างพาเหรดปิดถนน เพื่อจัดมาราธอนรายการต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง จนทำให้กลุ่ม “นักวิ่งฟรุ้งฟริ้ง” ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หลายคนอาจจะสงสัยว่า “นักวิ่งฟรุ้งฟริ้ง” คืออะไร ..?

นายสถาวร จันทร์ผ่องศรี” หรือ “ครูดิน” โค้ชนักวิ่ง อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย ได้อธิบายว่า “นักวิ่งฟรุ้งฟริ้ง” จะพบเห็นได้ง่ายขึ้นในสังคมปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมวิ่งตาม “กระแสความนิยม” และชื่นชอบที่จะแสดงผลการวิ่ง เช่น สถิติที่บันทึกได้ของตนเองลงบนโซเชียลแบบถี่ ๆ ในช่วงการวิ่งระยะแรก

รวมถึงมีพฤติกรรม “วิ่งเกินขีดความสามารถ” เพียงเพราะต้องการเข้าร่วมในงานใหญ่ ๆ ที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้น ทั้งที่ร่างกายและวิธีการวิ่งยังไม่พร้อมต่อการวิ่งระยะไกล

“นักวิ่งฟรุ้งฟริ้งมีเยอะขึ้นมาก โดยเฉพาะตอนนี้ที่สังคมกำลังนิยมการวิ่ง เห็นได้จากการจัดงานที่เกิดขึ้นมากในกรุงเทพฯ ซึ่งสุดท้ายนักวิ่งพวกนี้อาจจะวิ่งต่อไปได้ไม่นาน เพราะขาดเป้าหมายและหลักการวิ่งที่ดี” ครูดินกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากต้องการออกกำลังกายด้วย “การวิ่ง” ให้ได้อย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการเป็น “นักวิ่งฟรุ้งฟริ้ง” มีหลักการ 5 ข้อสำคัญ ที่ “ครูดิน” แนะนำคือ

1.“อย่าใจร้อน” การวิ่งในระยะแรกไม่จำเป็นต้องวิ่งให้เร็วเพื่อทำลายสถิติสำหรับโพสโชว์บนเฟซบุ๊กประจำ หากเป็นนักวิ่งมือสมัครเล่นที่เริ่มฝึกฝน ควรเริ่มจากการปูพื้นฐานก้าวเท้าที่ถูกต้อง จับจังหวะก้าวเท้าที่เหมาะสมของการวิ่ง และรูปแบบของการก้าวเท้าของแต่ละระยะ เพื่อพัฒนาการวิ่งไปสู่ในระยะไกลขึ้น

2.“เริ่มจากน้อยไปหามาก” สำหรับการวิ่งในระยะแรก นักวิ่งมือสมัครเล่นควรจะค่อย ๆ พัฒนาจากการวิ่งระยะสั้น ไม่จำเป็นต้องหักโหมด้วยการลงแข่งขันในรายการที่มีการวิ่งระยะไกลในทันที เพราะอาจได้รับบาดเจ็บ และต้องพักการวิ่งไปในที่สุด

3.“ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันทุกวัน” เพราะหากสามารถวิ่งและทำได้ตามที่กำหนดแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องพักร่างกาย ก็ไม่ควรออกกำลังกายชนิดอื่นที่ต้องใช้แรงมากอย่างต่อเนื่องอีก เช่น การยกน้ำหนัก ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนล้า และไม่ได้พักผ่อน หรือฟื้นสภาพอย่างจริงจัง

4.“มีจุดพักเป็นขั้นบันได” เมื่อซ้อมวิ่งไปถึงระยะหนึ่งแล้ว ก็ควรประคองระดับการซ้อมให้ได้อย่างคงที่ในระยะการวิ่งนั้น ๆ สักพักหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มระดับการวิ่ง ไม่จำเป็นต้องเพิ่มระดับการวิ่งให้สูงขึ้นตลอดเวลา

5.“ให้ความสำคัญต่อการยึดเหยียด” ควรทำกายบริหาร ยืดเหยียดร่างกาย “ก่อน” ที่จะวิ่ง และคูลดาวน์ “หลัง” การวิ่ง เช่น การปรับจากท่าวิ่งเป็นการวิ่งเหยาะ ๆ หรือเดิน เพื่อทำให้อัตราการเต้นของหัวใจคืนสู่ภาวะปกติ

พร้อมแล้วหรือยังที่จะสลัดความ “ฟรุ้งฟริ้ง” และหันมาเอาจริงกับการวิ่งออกกำลังกาย