ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์

http://www.thaihealth.or.th/

บทความโดย : น.พ. ฐิติณัฐ ดิลกหัตถการ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.

 

หลายท่านที่ใช้งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อยๆ อาจเคยพบกับปัญหาเรื่องการปวดนิ้ว ขยับนิ้วไม่ได้ จะงอก็ไม่ได้ จะเหยียดก็ไม่ได้ หรืออยู่ดีๆนิ้วก็เกิดการกระตุกขึ้นมา บางครั้งปวดนิ้วมากถึงกับกระดิกนิ้วไม่ได้เลย อาการเหล่านี้เรียกว่า "นิ้วล็อค" นั่นเอง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ้วล็อค จะกำมืองอนิ้วได้ แต่เวลาเหยียดนิ้วออก นิ้วใดนิ้วหนึ่งเกิดเหยียดไม่ออก เหมือนโดนล็อคไว้ จึงเป็นที่มาของคำว่า "นิ้วล็อค" โรคนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Trigger finger"

นิ้วล็อค เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

เมื่อมีการกำมือแน่น หรือเกร็งงอข้อนิ้วมือเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการบวมและอักเสบ ของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้ว ซึ่งอยู่ที่บริเวณฝ่ามือ ตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ร่วมกับมีการหนาตัวของรอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณโคนนิ้วมือ ทำให้เอ็นงอนิ้วลอดผ่านรอกได้ลำบาก เกิดการสะดุดขณะงอหรือเหยียดนิ้วมือ

โรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงวัยกลางคน (ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชายได้ถึง 2-6 เท่า) นิ้วที่พบบ่อยที่สุด คือ หัวแม่มือ รองลงมาคือ นาง กลาง ก้อย และชี้ นอกกจากนั้น อาจพบโรคนิ้วล็อคได้บ่อย ในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เบาหวาน และเกาต์ ร่วมด้วยได้บ่อยกว่าคนปกติ

แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคนิ้วล็อคอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ้วล็อค มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ กำมือได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะตอนเช้า ถ้าอาการมากขึ้นจะพบว่ามีการสะดุดขณะงอหรือเหยียดนิ้วมือ ต่อมาจะมีการติดของ นิ้วมือในท่างอต้องใช้มือด้านตรงข้ามมาเหยียดออกจึงจะเหยียดออกได้  ในรายที่อาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจงอนิ้วไม่เข้าหรือเหยียดนิ้วออกไม่ได้ทำให้ข้อนิ้วติดแข็งอยู่ในท่างอ แพทย์จะทำการตรวจโดยการใช้หัวแม่มือกดตรงโคนนิ้วมือ แล้วให้ผู้ป่วยงอเหยียดนิ้วนั้นจะพบอาการเจ็บหรือการสะดุดของเอ็นงอนิ้ว

การรักษา

ถ้าอาการไม่มากแพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องกำมือแน่นหรืองอเกร็งนิ้ว ร่วมกับการให้ยาบรรเทาอาการปวด  การใช้วิธีทางกายภาพบำบัด เช่น ใช้อุปกรณ์ดามนิ้วมือ การนวดเบาๆ การใช้ความร้อนประคบ และการออกำลังกายเหยียดนิ้ว ถ้าอาการมากขึ้นจะใช้วิธีการฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ เข้าที่บริเวณโคนนิ้วซึ่งส่วนใหญ่ให้ผลการรักษาที่ดี ในกรณีที่ไม่ได้ผลหรือเป็นซ้ำหลังการฉีดสเตียรอยด์ 1-2 ครั้ง แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเลาะเอารอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณโคนนิ้วมือออก

การป้องกัน

โรคนิ้วล็อคเกิดขึ้นจากการใช้งานของนิ้วมือที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น การป้องกันโรคนิ้วล็อคที่ดีที่สุด คือ ระมัดระวังการใช้งานนิ้วมือให้ถูกต้อง ถูกสุขลักษณะ ก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของปลอกหุ้มเอ็น และโรคนิ้วล็อคได้ เช่น ไม่หิ้วของหนักจนเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ให้ใช้ผ้าขนหนูรองและให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ หรือใช้วิธีอุ้มประคอง หรือใช้รถเข็นลากแทน หากต้องทำงานที่ใช้เครื่องมือทุ่นแรงเช่น เลื่อย ไขควง ค้อน ควรห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้น และจัดทำขนาดที่จับให้เหมาะสมกับการใช้งาน

นอกจากนี้หากต้องทำงานที่ใช้มือต่อเนื่องทำให้มือเมื่อยล้า หรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง เป็นต้น ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ แล้วจะทำให้ป้องกันและหายจาก โรคนิ้วล็อคได้