ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า    โดย พญ.รัชดาพร ฤกษ์ยินดี อาจารย์ประจำภาควิชาสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี

http://www.thaihealth.or.th/

 

ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอด เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ที่ไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นภาวะที่อันตราย และอาจรุนแรงถึงขั้น เสียชีวิตได้

ในปี พ.ศ. 2484 ได้มีการรายงานโรคนี้เป็นครั้งแรก หลังจากพบส่วนเยื่อบุผิวของทารกอยู่ในเส้นเลือดปอดของมารดาที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันในขณะคลอด จากรายงานของต่างประเทศพบว่า ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ เป็นอันดับหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนานั้น พบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 10

ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอดพบได้น้อย ประมาณ 2 ถึง 8 ของการคลอด 100,000 ครั้ง  ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละสถาบัน เนื่องจากเกณฑ์การวินิจฉัยยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง

กลไกการเกิดของภาวะนี้ เกิดจากส่วนประกอบของเด็กในน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดของมารดา ผ่านทางเส้นเลือดดำบริเวณปากมดลูก หรือบริเวณที่มีการบาดเจ็บของมดลูก น้ำคร่ำและเศษเนื้อเยื่อของทารก ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมปะปนอยู่ในกระแสเลือดของมารดา จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของมารดาให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง ต่อน้ำคร่ำและเศษเนื้อเยื่อของทารก เป็นเหตุให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ซึ่งจัดว่าเป็นภาวะที่อันตรายอย่างมาก

ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะนี้ ประกอบด้วย อายุของมารดา การตั้งครรภ์มากกว่า 5 ครั้ง การคลอดเร็ว การชักนำการคลอดด้วยยา การใช้เครื่องมือช่วยคลอด การผ่าตัดคลอดบุตร  ภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะชักจากครรภ์เป็นพิษ และภาวะทารกเครียดในครรภ์ ปัจจัยข้างต้นอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอด และไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะเกิดขึ้นหรือไม่ จะเกิดขึ้นเมื่อใด อีกทั้งยังไม่สามารถป้องกันได้

อาการของน้ำคร่ำอุดกั้นที่ปอดจะเกิดระหว่างเจ็บครรภ์ การคลอด หรือหลังการคลอดไม่นาน อาการจะเกิดอย่างรวดเร็วและรุนแรง จากความดันต่ำเฉียบพลันหรือหัวใจหยุดเต้น มีการ ขาดออกซิเจนในเลือดเฉียบพลันโดยผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบ เขียว ระบบหายใจล้มเหลว หยุดหายใจอย่างรวดเร็วและเลือดไม่แข็งตัวอย่างรุนแรง ซึ่งการรักษาไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง แต่เป้าหมายของการรักษา คือ การแก้ไขภาวะขาดออกซิเจนและความดันต่ำ เพื่อป้องกันภาวะขาดเลือดเลี้ยงอวัยวะสำคัญของมารดา และมีออกซิเจนเพียงพอสู่ทารกในครรภ์ใน โดยอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจร่วมกับ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ยากระตุ้นหัวใจ ให้เลือดและองค์ประกอบ ของเลือด

เมื่อเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอดขึ้นแล้วจะพบอัตราการเสียชีวิต ได้ถึงร้อยละ 20 ถึง 90 ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง และหากมารดารอดชีวิตก็จะพบว่ามีการบาดเจ็บทางระบบประสาทอย่างรุนแรงได้มากถึงร้อยละ 85 ส่วนผลลัพธ์ของทารกในครรภ์นั้นยังมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 20 ถึง60 ในส่วนของทารกที่รอดชีวิตจะมีระบบประสาทปกติเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอดจะเป็นภาวะที่ ฉุกเฉิน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้าว่า จะเกิดขึ้นหรือไม่ อีกทั้งยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็พบได้เพียง ส่วนน้อยของหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น