ที่มา : หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ 

http://www.thaihealth.or.th/

เส้นเอ็นเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับ กล้ามเนื้อทั้งสองด้าน เหมือนรูปกระสวยทอผ้า ตรงกลางป่อง ปลายสองด้านเรียว ปลายของเส้นเอ็นทั้งสองหัว เกาะจับกระดูกทั้งสองข้าง พอกล้ามเนื้อยืดหด เส้นเอ็นยืดหดตามไปด้วย พากระดูกเคลื่อนไหว ข้อต่างๆ จึงเหยียดงอได้ตามความต้องการ

ถ้ากระดูกถูกเลาะเอ็นและกล้ามเนื้อออกหมด กระดูกเป็นเพียงของท่อนหนึ่งวางไว้เฉยๆ เท่านั้น ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ และกล้ามเนื้อกับเส้นเอ็น ถ้าไม่มีกระดูกให้เกาะจับ จะเป็นเพียงก้อนเนื้อกองหนึ่ง การเคลื่อนไหวข้อต่างๆ ของร่างกายจึงต้องอาศัยการทำงานที่ประสานงานกันอย่างเยี่ยมยอดของกระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ แต่อวัยวะเหล่านี้อาศัยเลือดมาหล่อเลี้ยง จึงสามารถหดเกร็ง คลายตัว จนเกิดการเคลื่อนไหวได้  ดังนั้นในร่างกายต้องมีเลือดเพียงพอในการหล่อเลี้ยงเส้นเอ็น เส้นเอ็นจึงจะแข็งแรง

พอเดินนานเส้นเอ็นจะเกิดความ เมื่อยล้า โดยเฉพาะเอ็นที่ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ยืดงอลำบาก และเมื่อยล้าได้ง่าย

เส้นเอ็นถูกกำกับดูแลโดยตับ ตับเป็นอวัยวะที่กักเก็บเลือด ถ้าเลือดในตับ หล่อเลี้ยงเส้นเอ็นไม่เพียงพอ เมื่อเดินนาน เส้นเอ็นกับกล้ามเนื้อใช้เลือดไปมาก อีกทั้งอยู่ในภาวะตึงเกร็งตลอดเวลา จึงเมื่อยล้า ปวดเข่า ปวดเมื่อยน่อง ส่งผลกลับมา ให้ตับอ่อนแอ

เมื่อตับอ่อนแอจะย้อนกลับมาส่งผลให้เส้นเอ็นอ่อนแอเพิ่มขึ้น เป็นวงจรของความเลวร้ายไปเรื่อย อาการเจ็บปวดตามข้อจึงเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะ ข้อเข่าที่ต้องรับน้ำหนักตัวมาก เกิดอาการเข่าเสื่อมและปวดเข่า

การยืน การเดิน มักอยู่คู่กัน ตับ และไตก็อยู่คู่กันเช่นกัน ดังนั้น เมื่อยืน หรือเดินนานเกินไป จึงส่งผลต่อกัน และกันเสมอ แม้กระทั่งก้มๆ เงยๆ หยิบของ บิดเอี้ยวตัว จากการงาน การเล่นกีฬา ทำซ้ำๆ จำเจ กล้ามเนื้อหลังจึงเกิดการเกร็ง ฉุดกระชาก อ่อนล้า อาการปวดหลัง ปวดเอว โรคกระดูกเอวทับเส้น กระดูกคอทับเส้น หมอนรองกระดูกถูกทับ ปวดเข่า ปวดเมื่อยเนื้อตัว

การเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย ควรเริ่มจากความพอดี ดูว่าร่างกายรับได้แค่ไหน เหนื่อยแล้วต้องอย่าฝืน บางคนต้องการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว จึงวิ่งหรือยกเวตอย่างหนัก ให้เหงื่อออกมากๆ แทนที่จะแข็งแรงกลับทำให้อ่อนแอ การออกกำลังที่พอดี เราจะมีความสุขสบายใจ ร่างกายหลั่งสารที่ทำให้สดชื่น หากเราทำอย่างฝืนๆ แทนที่จะหลั่งสารที่เป็นคุณ กลับหลั่งสารเป็นโทษ

ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายให้เหมาะสม กับสุขภาพร่างกาย ถ้ารู้สึกเหนื่อย เหงื่อออกมากควรหยุด หรือทำวันละครึ่ง ถึงหนึ่งชั่วโมง น่าจะเพียงพอ

ต้องเลือกชนิดกีฬาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่กระแทกกระทั้น ต่อข้อเข่า ผู้สูงอายุ ข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้ว เพิ่มแรงกระแทกเข้าไปอีก จะเร่งให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น รายที่เจ็บอยู่แล้ว จะยิ่งเจ็บมากยิ่งขึ้น

เราสามารถดูแลเข่าโดยการบริหารเส้นเอ็น โดยเฉพาะเส้นเอ็นเข่าได้ ด้วยการนั่งบนเก้าอี้ ขาซ้ายวางที่พื้น ยกขาขวาขึ้นขนานกับพื้น มือสองข้างประคองขาขวาที่สุดเก้าอี้ ยกเข่าประมาณ 80 องศา ขึ้นลงน้อยๆ เบาๆ 5 ครั้ง แล้วเปลี่ยนมาทำที่เข่าซ้ายเหมือนกัน

นอนบนเตียงที่ไม่นิ่ม เหยียดขาตรง โน้มตัวลงไปจนมือสามารถจับนิ้วเท้า ได้เท่าไรเอาเท่านั้น เพื่อให้เส้นเอ็นด้าน หลังเข่าได้เหยียดตึงอ่อนนิ่มลงบ้าง หรือปั่นจักรยาน ไม่ว่าจะจักรยาน บนท้องถนนหรือจักรยานในฟิสเนต หากไม่มีเลย ให้นอนถีบจักรยานบนอากาศในเตียงนอน เส้นเอ็นเข่าจะแข็งแรง

การขึ้น-ลงบันไดไม่ใช่เลวร้ายเลยทีเดียว อยู่ที่จะใช้วิธีไหน ถ้าเวลาขึ้นค่อยๆ ก้าวขึ้นทีละขั้น เวลาลงก้าวลงช้าๆ  เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาให้ดี จะเป็นการทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นรอบเข่าแข็งแรง ลดอาการปวดเข่าลงได้