ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
http://www.thaihealth.or.th/
ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคเลือดออกในสมอง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน พบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า
จากตัวเลขที่มีการศึกษากันในหลายประเทศพบว่า ในประชากร 1 แสนคน จะมีผู้ป่วยโรคเลือดออกในสมองประมาณ 10-20 รายต่อปี หมายถึง ในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 6,000-12,000 รายต่อปีเลยทีเดียว เพราะเหตุใดและจะป้องกันโรคนี้ได้หรือไม่
รศ.นพ.ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีคำตอบว่า โรคเลือดออกในสมอง จัดเป็นกลุ่มหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองร่วมกับโรคสมองขาดเลือด สาเหตุหลักมาจากภาวะความเสื่อมของหลอดเลือดสมองจากอายุที่มากขึ้นร่วมกับโรคประจำตัว ที่สำคัญคือ โรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน ภาวะแข็งตัวของ
เลือดบกพร่อง รวมถึงการใช้ยาป้องกันเลือดแข็งตัวบางชนิด แต่ในปัจจัยทั้งหลาย อายุที่มากขึ้นร่วมด้วยโรคความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน ยังคงเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคนี้
อาการของโรคเลือดออกในสมองจะมีลักษณะสำคัญคือ เฉียบพลันและรุนแรง อาการเฉียบพลันที่สังเกตได้ เช่น
1.ปวดศีรษะรุนแรง เฉียบพลัน มักมีอาการร่วมคือ คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หรือกระทั่งหมดสติ
2.อ่อนแรง อัมพาต หรือปากเบี้ยวเฉียบพลัน
3.ชาเฉียบพลัน
4.พูดลำบากฉับพลัน
5.ตามัวมองไม่เห็นเฉียบพลัน
6.เสียการทรงตัว และบ้านหมุน วิงเวียนเฉียบพลัน
หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการข้างต้น ให้พบแพทย์ด่วน เพราะก้อนเลือดในสมองอาจทำให้แรงดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ผู้ป่วยจะซึมลงจนหมดสติ หรือ
ก้อนเลือดกดเบียดบริเวณสำคัญ เช่น ก้านสมอง ทำให้อาการทรุดลงรวดเร็ว นอกจากนี้ก้อนเลือดอาจทำลายเนื้อสมองที่สำคัญโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นได้ ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น อาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเลือดออก หรือใช้ยาลดแรงดันในโพรงกะโหลกศีรษะ ลดสมองบวม ทั้งนี้ขึ้นกับขนาด ตำแหน่งและความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
โรคเลือดออกในสมองไม่มีวิธีการรักษาใดจะดีกว่าการป้องกัน กล่าวคือ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ต้องระวังควบคุมรักษาโรคความดันโลหิตสูงให้เคร่งครัด ลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น หยุดสูบบุหรี่ โรคนี้นับเป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดอันตราย การมีความรู้ความเข้าใจจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง