ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
http://www.thaihealth.or.th/
ประเทศไทยอยู่ในช่วงอากาศแปรปรวน อากาศร้อนจัด สลับกับมีพายุลมแรง ฝนตกในหลายพื้นที่ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงอันประกอบด้วย เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว จึงเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่
ในปี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-2 พ.ค. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบผู้ป่วยแล้ว 46,618 คน เสียชีวิต 3 ราย และยังพบผู้ป่วยโรคปอดบวมที่เป็นภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย
สำหรับไข้หวัดใหญ่ (Flu) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการเล็กน้อยไปถึงรุนแรง อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ไข้สูง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอ และรู้สึกเหนื่อย อาการเหล่านี้ตรงแบบเริ่ม 2 วันหลังได้รับไวรัส และส่วนมากอยู่นานไม่เกิน 1 สัปดาห์
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อผ่านอากาศโดยการไอหรือจาม ซึ่งปลดปล่อยละอองลอยที่มีไวรัส ไข้หวัดใหญ่ยังสามารถส่งผ่านโดยการสัมผัสโดยตรงกับมูลหรือสารคัดหลั่งจากจมูกของนก หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อน คาดกันว่าละอองลอยที่มาทางอากาศก่อให้เกิดการติดเชื้อมากที่สุด
ผู้ป่วยส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลาง-ชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักจะเกิดในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะมีโอกาสแทรกซ้อนถึงตายได้นั้นนับว่าน้อยมาก
สธ.จึงขอความร่วมมือประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปถึง 2 ปี 3.หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 4.ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด และเบาหวาน เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ฟรีที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ รวมทั้งโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ก.ค.นี้
สำหรับประชาชนทั่วไปป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้แม้ไม่ได้รับวัคซีน โดยยึดหลักสุขอนามัยที่ดี หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงคลุกคลีกับผู้ป่วย ไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย ไม่อยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน หากสงสัยป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูง ไอ
ในส่วนของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาทันทีป้องกันการเสียชีวิต ส่วนผู้ป่วยทั่วไปควรหยุดงาน หยุดเรียน ถ้าต้องไปสถานที่สาธารณะหรือขึ้นรถโดยสาร ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หากอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย ควรพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422