ที่มา : www.dailynews.co.th

http://www.thaihealth.or.th/

 

จริง ๆ ไม่แนะนำให้กินด้วยซ้ำไป แม้ว่าชาวบ้านบางพื้นที่จะนำเนื้อคางคกใช้ทำอาหาร แต่ต้องเอาต่อมพิษออกให้ดี เพราะอาจมีการปนเปื้อนของสารพิษได้

ใครที่เคยกินอาหารแปลกๆ คงจะรู้ดีว่า “ไข่” ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ อย่าง “กบ เขียด หรืออึ่งอ่าง” นำไปประกอบอาหารได้ และถือเป็นวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น บางพื้นที่อาจจะไม่กินเลย แต่บางพื้นที่กลับเป็นที่นิยม

ริงอยู่ “ไข่” ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นำมาประกอบอาหารได้ แต่มีอยู่ 1 ชนิด ช่วงต้นฤดูฝนเช่นนี้ มักจะเห็นได้บ่อย คือ “ไข่คางคก” เพราะเป็นช่วงที่คางคกจะออกมาวางไข่ตามแอ่งน้ำ ซึ่งหลายคนไม่ทราบว่า “ไข่คางคก” ก็มี “พิษ” เช่นเดียวกันกับตัวของคางคก

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเรื่อง “พิษจากคางคก” ว่า คางคกมีต่อมน้ำเมือกใกล้หู ซึ่งขับเมือกสีขาวคล้ายน้ำนมที่มีสารชีวพิษ เช่น บูฟากิน (bufagins) บูโฟท็อกซิน (bufotoxin) และบูโฟธาลิน (bufotalins) อีกทั้งยังพบสารพิษอยู่ในผิวหนัง เลือด ไข่ และเครื่องในของคางคก สารพิษเหล่านี้ทนความร้อนได้สูงมาก “พิษมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท มีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้”

แม้กระทั่งในสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข มักจะได้รับพิษจากการเลีย สัมผัส หรือคาบคางคกเล่นอย่างใกล้ชิด สัตว์จะมีอาการน้ำลายไหลมาก กระสับกระส่าย หายใจหอบ ตื่นเต้น ถ้าได้รับพิษมากจะหอบ ร้องหรือหอน ตัวร้อน ชัก และอาจเสียชีวิตได้ หากกินคางคกเข้าไปหมดทั้งตัว

แต่ปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมความเชื่อ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในการกินอาหารของประชาชนในบางพื้นที่ บางครั้งเป็นเหตุ “คน” ต้องเสียชีวิตจากการกิน “คางคก” หรือ “ไข่คางคก” ได้ เพียงแค่ช่วงวันที่ 25 เม.ย.ถึง 1 พ.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกิน “ไข่คางคก” 4 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งหากย้อนกลับไปดูข้อมูลปี 2550 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตใน จ.สุโขทัย ผู้ป่วย 4 ราย เสียชีวิต 2 ราย กรุงเทพฯ, จ.เลย, จ.อุบลราชธานี และ จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตอย่างละ 1 ราย

“กินคางคก” แม้ว่าจะ “ปรุงสุก” ก็ยังมีอันตราย เพราะ “พิษทนทานร้อนสูง” ความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ ซึ่งพิษมีสารกระตุ้นการทำงานของหัวใจเต้นช้าลง ผิดจังหวะ หากนำมาแกล้มกับเหล้า-เบียร์ ทำให้ช็อกและเสียชีวิตเร็วขึ้น

ส่วนอาการเป็นพิษ มักเกิดขึ้นช้าๆ หลายชั่วโมงต่อมาหลังกินเข้าไป ซึ่งเด็กจะทนต่อพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ เริ่มจากคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง อาจมีอาการสับสนเห็นภาพเป็นสีเหลือง ระดับความรู้สติจะเปลี่ยนแปลง มีอาการทางจิตประสาทจนถึงชักและหมดสติ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค แนะวิธีสังเกตความแตกต่าง “ไข่” ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำว่า “ไข่คางคก” จะมีขนาด 2 มม. เป็นสีดำอยู่ในเมือก เรียงตัวเป็นเส้นยาวๆ ส่วน “ไข่กบ เขียด หรืออึ่งอ่าง” จะเกาะแน่น เป็นแผ่นใส เป็นกลุ่มก้อน

“จริงๆไม่แนะนำให้กินด้วยซ้ำไป แม้ว่าชาวบ้านบางพื้นที่จะนำเนื้อคางคกใช้ทำอาหาร แต่ต้องเอาต่อมพิษออกให้ดี เพราะอาจมีการปนเปื้อนของสารพิษได้ หากกระบวนการปรุงไม่ชำนาญอาจเกิดการปนเปื้อนได้”

โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน มักจะมีแหล่งน้ำที่เหมาะแก่การ “วางไข่” ของสัตว์ต่างๆ เช่น คางคก กบ อึ่งอ่าง อาจทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด นำมาบริโภคได้ ถึงแม้จะปรุงสุก แต่ความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ หากเกิดพิษจากการกิน “คางคก” หรือ “ไข่คางคก” ควรรีบทำให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

ดังนั้นห้ามนำ “คางคก” หรือ “ไข่คางคก” มาบริโภคอย่างเด็ดขาด!! โปรดคิดสักนิดก่อนนำมาทำอาหาร