ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

http://www.thaihealth.or.th/

หากใครได้ดูคลิปวิดีโอที่มีความยาว 1.23 วินาที ที่ใช้ชื่อว่า “เคยคิดไหมว่าคำพูดในโซเชียลเน็ตเวิร์กฆ่าคนได้” ซึ่งได้ถูกโพสต์ลงในแฟนเพจ Drama-addict เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา (มียอดวิวสูงถึง 2.8 ล้านวิว)

จะพบว่าเรื่องราวในคลิปวิดีโอนี้ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า การใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชัง ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว บนโลกออนไลน์นั้น สามารถทำร้ายและทำลายผู้อื่นให้ตายทั้งเป็นได้ อีกทั้งมันยังสามารถทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ในท้ายที่สุด

 

 

ยังมีประเด็นของการใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชัง ทั้งกับบุคคลสาธารณะ บุคคลที่มีชื่อเสียง บุคคลที่ตกเป็นข่าวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บุคคลผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานใดผลงานหนึ่งขึ้นมา หรืออาจเป็นกลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมาย หรือความคิดเห็นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เหมือนกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจในทางเลวร้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างที่เราได้เห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ

หนทางแก้ไข

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอบอกเล่าให้ผมฟังว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลิปวิดีโอนี้ถือเป็นการใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง ที่เรียกขานกันว่า Bully (ในเว็บไซต์ siamintelligence.com ได้อธิบายคำคำนี้ไว้ว่าหมายถึง การถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งตั้งแต่การใช้คำพูดเสียดสี ด่าว่า ถากถาง ประจาน ไม่คบค้า ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน รวมถึงการกลั่นแกล้งในรูปแบบของการใช้โซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งเรียกว่า Cyberbullying)

“การข่มเหงกันทางออนไลน์ในลักษณะนี้ถือเป็นการข่มเหงกันเพื่อให้อีกฝ่ายเสียใจ รู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกไร้ค่า นอกจากนี้ยังมีการแสดงความเกลียดชังกันอีกในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเราเรียกขานกันว่า ประทุษวาจา หรือ Hate Speech ที่เป็นการแสดงความเกลียดชัง หรือมุ่งหมายให้ผู้ที่เป็นเป้าหมายของความเกลียดชังไม่เป็นที่ต้องการของสังคม หรือถึงขั้นไม่ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม แต่คนที่ได้รับประทุษวาจา ต้องสืบเนื่องจากอัตลักษณ์ร่วมในด้านใดด้านหนึ่ง

เช่น เป็นผู้หญิง เป็นเกย์ เป็นอาหรับ เป็นมุสลิม ที่ถือเป็นเป้าหมายในการประทุษวาจาในด้านเพศสภาพ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ศาสนา หรือแม้กระทั่งความเชื่อทางการเมือง ทางศาสนานั่นเอง ซึ่งปลายทางของการใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชัง หรือประทุษวาจา อาจนำพาไปสู่การทำร้ายกันร่างกายกันจนเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ หากสังคมไทยไม่รีบร่วมมือกันแก้ไขในเรื่องนี้ตั้งแต่วันนี้ เรามีโอกาสที่จะไปถึงตรงจุดนั้น”

ในส่วนของหนทางแก้ไขในคลิปวิดีโอเรื่อง Hate Speech เบื้องต้นสำหรับคนไทย ฉบับเต็ม (https://www.youtube.com/watch?v=8AKcSTY0TEc) ที่ผลิตโดยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยว่า เราทุกคนต้องตระหนักรู้เรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีขันติธรรม (ความอดทน) ใช้เสรีภาพทางการแสดงออกในสังคมที่คนคิดแตกต่าง โดยไม่นำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรง และมีค่านิยมที่เห็นว่าการสื่อสารความเกลียดชังเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

สำหรับในโลกออนไลน์ เราสามารถเริ่มต้นการไม่บ่มเพาะความเกลียดชังให้งอกงามได้ด้วยตัวเราเอง ด้วยการไม่ตอบสนองต่อความเกลียดชังด้วยการกดไลค์ หรือการคอมเมนต์แบบเห็นด้วย หรืออวยกัน ต่อมาเราไม่ควรส่งต่อความเกลียดชังด้วยการแชร์ หรือการฟอร์เวิร์ดเมล และควรคิดก่อนโพสต์หรือสร้างเนื้อหาออนไลน์ใดๆ ที่เป็นการแสดงความเกลียดชัง นอกจากนี้เราควรตอบโต้ความเกลียดชังออนไลน์ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง และเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ไร้อคติ และสร้างสรรค์ สุดท้ายเราควรกดปุ่มรายงานการละเมิดในเว็บที่มีฟีเจอร์ Report นี้ หรือรายงานโดยตรงไปที่ผู้ดูแลระบบถึงการสร้างความเกลียดชังออนไลน์

วิธีการรับมือ

นักข่าวสายบันเทิงท่านหนึ่งซึ่งไม่ขอเอ่ยนาม ผู้พบเจอการใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชัง ทั้งกับตัวเองและบุคคลที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ก็ขอตั้งคำถามกับสังคมว่า เราเคยเห็นตัวตนของคนที่ใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์บ้างไหม หากเราลองเข้าไปดูในรูปโปรไฟล์ของคนเหล่านี้จะเห็นว่า ไม่ได้ใช้รูปของตัวเองมาเป็นรูปโปรไฟล์เลย

“เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร แล้วทำไมเราต้องไปให้ค่าและราคากับคนเหล่านี้ เราต้องไม่สนใจ เพราะถ้าเราสนใจ หรือจิตตกคล้อยตาม หรือโมโห เขาจะชอบ เขาจะมีความสุข หากเรานิ่ง ยิ้ม หัวเราะ เขาจะมีความทุกข์แทนเรา โดยส่วนตัว เคยโดนคนเข้ามาด่าในเฟซบุ๊กเยอะมาก แต่ไม่รู้จะไปตอบโต้ยังไง เพราะไม่รู้ว่าเขาคือใคร ถ้าเราด่าตอบก็เหมือนเราไปด่าลม ด่าหมา ด่าแมว เชิดใส่สิ คิดเสียว่าที่เขาด่าเรา เป็นเพราะเขาให้ความสนใจเรา อยากรู้เรื่องของเรา อยากเกาะติดชีวิตเรา 24 ชั่วโมง เราต้องคิดอย่างนี้ถึงจะมีความสุข ถ้าจะให้ดีอย่าเข้าไปดูเข้าไปอ่าน หากจิตไม่แข็งพอ แม้ว่ามันจะทำยากมาก เพราะเราเสพโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา แต่เราต้องบังคับตัวเองให้อย่าดูอย่าอ่านอย่าไปสนใจ คือหนทางที่ดีที่สุด”

ในส่วนของผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานอย่าง ทีน่า-ธีรวัฒน์ ทองมิตร บรรณาธิการนิตยสารดิจิทัล เผยว่าเธอเคยโดนการคอมเมนต์ผลงานของเธอแบบรุนแรง ซึ่งเป็นคำคอมเมนต์ในลักษณะของความเกลียดชังที่บั่นทอนจิตใจผู้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมากมายมหาศาล

“ทีน่าเคยโดนคนด่าว่าผลงานของทีน่าในเฟซบุ๊กว่า อุบาทว์ น่าเกลียด ทำไปได้ยังไง รูปแย่มาก คนขึ้นปกไม่สวยเลย เชื่อไหมว่าคำพูดเหล่านี้ ทำให้ทีน่าและทีมงานจิตตกไปทั้งวัน บั่นทอนจิตใจของเรามากจริงๆ พอเรากลับไปแก้ไขงานใหม่ก็ยังโดนว่าอีก เราก็ไม่รู้ว่าที่ด่ามาเป็นเพราะว่าสะใจหรือได้ระบายอารมณ์ออกมา แต่มันเป็นการส่งต่อความรู้สึกแย่ๆ ให้แก่กันมาก ซึ่งไม่ดีเลย แต่มันก็ทำให้เรารู้ได้ว่า มันไม่ได้ผิดที่เรา หรือสิ่งที่เราสร้างสรรค์มันขึ้นมาแล้วล่ะ แต่มันผิดที่ทัศนคติของคนที่มาคอมเมนต์มากกว่า ใช่ ผลงานของเราอาจไม่ถูกใจคุณ แต่เราก็ไม่ได้ทำงานออกมาแบบไม่ได้ตั้งใจ เอาเป็นว่าเราทุกคนอย่ามาบั่นทอนจิตใจกันและกันด้วยการวิจารณ์ในลักษณะนี้เลยดีกว่า หากวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ ทีน่ารับได้ แถมยังจะดีต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าด้วยซ้ำ”

เราทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์มากขึ้นทุกที จะมีการเฝ้าระวัง ปราบปราม หรือหาแนวป้องกันได้อย่างไร เพื่อให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ลดน้อยลงให้ได้มากที่สุด พ.ต.ท.หญิง สีดาทิพย์ สุนตาอินทร์ สว.งานการข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ ตร.เชียงใหม่ ได้เผยว่า ยุคสมัยนี้ผู้คนมีความใจร้อนมากขึ้น และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เมื่อมีสื่อออนไลน์อยู่ในมือ เวลาจะทำอะไรลงไปในนั้นก็ไม่แคร์อะไร

“เขาไม่แคร์ว่าคนที่เขาไปสร้างความเกลียดชังด้วยถ้อยคำบนโลกออนไลน์จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอันตรายที่สังคมควรหันมาแก้ไขให้โดยเร็วที่สุด ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ เมื่อมีคนเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้แล้วไม่ห้ามปราม กลับส่งเสริมสนับสนุนให้เรื่องราวมันลุกลามเข้าไปใหญ่น่ากลัวเข้าไปอีก ตรงที่มีคนเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้แล้วนิ่งเฉย รู้ เห็น แต่ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย”

พ.ต.ท.หญิง สีดาทิพย์ ยังเผยอีกว่า ปัจจุบันนี้กฎหมายวิ่งตามปรากฏการณ์นี้แทบไม่ทัน เพราะคนที่ใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชังนั้นไม่มีตัวตน “ถึงกฎหมายวิ่งตามทัน แล้วสามารถบอกได้ว่าการกระทำแบบนี้ผิด แล้วใครกันคือคนที่ผิด เพราะเราไม่รู้ตัวตน เหตุผลที่เราไม่รู้ตัวตน เพราะสื่อที่เราใช้ เช่น เฟซบุ๊ก เป็นของต่างชาติ ใครก็สามารถใช้อีเมลปลอม รูปปลอมสมัครใช้งานได้ พออะไรที่สามารถปลอมได้ ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ในนั้น เวลาเราไม่พอใจใคร หรืออยากกีดกันใครออกจากสังคม หรืออยากกล่าวหาใครให้เจ็บช้ำน้ำใจ จนทำให้ไม่มีคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ เราก็ทำได้โดยไม่รู้สึกผิด”

ในปัจจุบัน พ.ต.ท.หญิง สีดาทิพย์ เผยว่า การใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชังมีเพิ่มมากขึ้น มีการฟ้องร้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจ “ในการสอบสวนจะดูที่เจตนาเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการขอโทษ และบอกว่าทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้ว่าคนที่เป็นฝ่ายเสียหายนั้นเจ็บช้ำน้ำใจไปแล้ว หน้าที่ของเราจึงต้องหาทางปราบปรามและป้องกัน ในส่วนของการปราบปราม เราสามารถทำได้ แต่ทำได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ หากคนที่เคยทำมาแล้ว ยังทำอยู่อีก ทำซ้ำมากเข้าๆ มันจะกลายเป็นวัฒนธรรมสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นทั้งในโลกออนไลน์และโลกชีวิตจริง เมื่อคิดจะแก้ไข ก็แก้ไขได้ยาก จะป้องกัน ก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน”

หนทางแก้ไขหรือป้องกันที่ดีที่สุด พ.ต.ท.หญิง สีดาทิพย์ บอกว่า เราต้องเริ่มสร้างจิตสำนึกที่ดีของพลเมืองที่ดี และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในครอบครัว และในหลักสูตรการศึกษาของไทย ที่เด็กต้องได้เรียนรู้ทั้งในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย รวมทั้งเราทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เป็นผู้แก้ไข ปราบปราม หรือป้องกัน

“ลองมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ญี่ปุ่น เขาสร้างวัฒนธรรมความสุภาพ อ่อนน้อม และขอโทษ โดยวัฒนธรรมเหล่านี้เกิดจากการปลูกฝังและทำซ้ำๆ ย้อนกลับมาที่เมืองไทย หากการใช้คำพูดในลักษณะสร้างความเกลียดชังเพื่อกีดกัน ทำลาย หรือทำร้ายใครให้เจ็บช้ำน้ำใจบนโลกออนไลน์มันได้ถูกทำซ้ำและทำซ้ำมากเข้าๆ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร ฝากให้เราคนไทยทุกคนได้ตระหนักถึงในส่วนนี้กันด้วยนะคะ”