ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
http://www.thaihealth.or.th/
อย่างที่ทราบกันดีว่า การรับประทานอาหารที่สดใหม่และมีคุณภาพ ย่อมเป็นหลักปฏิบัติสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ห่างไกลโรค แต่หากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า หากต้องการสร้างสุขภาพที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ไม่เพียงจะต้องเลือกสรรอาหารที่มีคุณภาพเท่านั้น ยังจำเป็นต้องใส่ใจในการรับประทานอาหารที่แตกต่างกันไป ในแต่ละช่วงวัยอีกด้วย
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงอายุที่แตกต่างกัน ความต้องการสารอาหารย่อมมีความแตกต่างกันออกไปตามพัฒนาการ ของร่างกายและรูปแบบการดำเนินชีวิต ครั้งนี้จึงขอนำเสนอเทคนิค การรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยพร้อมข้อแนะนำ เพิ่มเติมจาก ผศ.ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์ รองคณบดีฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาฝาก
เริ่มจากวัยเด็กที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องการอาหารที่ให้สารอาหารและพลังงานสูง สิ่งสำคัญคือเด็กต้องได้รับโปรตีนและแคลเซียมที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ของกระดูกและกล้ามเนื้อ นมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นแหล่งอาหารที่ดีที่ให้ทั้งโปรตีนและแคลเซียมที่จำเป็นที่หาได้จากนมครบส่วน และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันเต็ม
ดร.ชุติมา แนะนำว่า นอกจากการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานอย่างเพียงพอแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานที่สูงเกินไปเพียงอย่างเดียว เช่น น้ำตาล และขนมหวาน
วัยรุ่นเป็นอีกวัยหนึ่งที่มีการพัฒนาและการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงต้องการอาหารที่ให้สารอาหารและพลังงานสูง แต่สิ่งสำคัญคือต้องมั่นใจว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าขนมหวาน หรืออาหารไขมันสูง เช่น น้ำอัดลม เค้ก ขนมปัง ซึ่งมีแคลอรี่สูงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ โดยส่วนประกอบอาหารของวัยรุ่นที่สำคัญ คือ อาหารประเภทแป้งเป็นพื้นฐาน อุดมด้วยผลไม้และผัก และมีผลิตภัณฑ์โปรตีนและนมในปริมาณปานกลาง
ดร.ชุติมา แนะนำว่า นอกจากการรับพลังงานโปรตีนจากเนื้อสัตว์แล้ว ถั่ว และธัญพืชต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อให้ได้ความหลากหลายทางโปรตีน
ผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 19-50 ปี จะมีความต้องการทางโภชนาการ ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ซึ่งอาหารสำคัญสำหรับคนวัยนี้ควรเป็น อาหารประเภทแป้งที่มีเส้นใยสูงและผัก ผลไม้ มีอาหารโปรตีนพอประมาณจากเนื้อสัตว์ ถั่ว นม และรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและไขมันในปริมาณน้อย สิ่งสำคัญคือการควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับส่วนสูงของตนเอง เมื่ออายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ควรเริ่มรับประทานอาหารน้อยลง แต่ให้รับประทานอาหารเป็นประจำ โดยเน้นผักและผลไม้ เนื่องจากระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย จะลดลง ประกอบกับการมีกิจกรรมทางกายน้อยลง
ดร.ชุติมา แนะนำว่า วัยนี้ควรหันมาให้ความสนใจในการเพิ่ม สารอาหารประเภท โฟลิค แอซิด (Folic Acid) ที่เป็นสารอาหารที่ร่างกาย ใช้ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ได้มาจากข้าวไม่ขัดสี ผักต่างๆ และไฟเบอร์ เพื่อทำความสะอาดลำไส้
เมื่อนำเคล็ดลับการทานอาหารให้เหมาะกับช่วงวัยมาใช้ร่วมกับเทคนิคการเลือกซื้ออาหารสดและสำเร็จรูปที่มีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าหลายๆ ท่าน จะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงโดยไม่ต้องพึ่งพายาวิเศษ หรือแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด